“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”   รายงานว่า  การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้เสนอผลการประกวดราคาจ้าง(ประมูล) ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) งานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. หรือ Executive Committee (Ex-Com) แล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ มอบให้ รฟท. กลับมาเจรจาต่อรองราคากับกิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอส ก่อสร้าง ผู้เสนอราคาต่ำสุดอีกครั้ง ก่อนเสนอบอร์ด รฟท. พิจารณา เบื้องต้น รฟท. ตั้งเป้าหมายลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลไม่เกินเดือน ธ.ค.67  จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการประมาณปี 70

 ในการประมูลมีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสาร 4 ราย  1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ 4. กิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอส ก่อสร้าง.

 โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นเส้นทางแรกใน 7 เส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2  รฟท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 เพื่อก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานทางรถไฟเดิม รวมระยะทาง167 กม. เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น ในเฟสแรกจุดเริ่มต้นโครงการ กม.454+000 ที่สถานีขอนแก่น และสิ้นสุดกม.623+000 ที่สถานีหนองคาย เป็นชานชาลาสูงทั้งหมด มี 14 สถานี ที่หยุดรถ 4 แห่ง ก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY) 3 แห่ง ที่สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร(ตร.ม.), สถานีหนองตะไก้ 21,750 ตร.ม. และสถานีนาทา 19,000 ตร.ม. งบประมาณก่อสร้าง พร้อมงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง รวม 28,719,940,000 บาท

 มีการเวนคืนพื้นที่รวม 184 ไร่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี คาดว่าในปีแรกของการเปิดบริการปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่3,300 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 คนต่อวันในปีที่ 30 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่3.30 ล้านตันต่อปีในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันในปีที่ 30

  ถือเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ผ่านจ.อุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย เติมเต็มระบบรถไฟทางคู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบรางทั้งการขนส่งสินค้า และโดยสาร ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดระยะเวลาเดินทางได้ 1–1.50 ชม. ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์

สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ให้ รฟท. เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าได้ทุกภูมิภาค เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ