เมื่อวันที่ 19 ต.ค. จากกรณีกระแสสังคมวิพากษ์ อย่างกว้างขวางเรื่อง ที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี พระนักพูด ออกมาเทศนา สนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนที่ไปฟังธรรมไปซื้อคอร์ส สมัครเป็นลูกข่ายของดิไอคอนกรุ๊ปนั้น ล่าสุดยังมีข่าวว่าอาณาจักรศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ก่อตั้งโดย ว.วชิรเมธี ที่ตั้งอยู่ ที่ ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย บนเนื้อที่ 190 ไร่ นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย แต่เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า ทางสำนักพุทธศาสนา เป็นผู้ขออนุญาตให้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ศ.2562 ที่ให้หน่วยงานราชการที่มีพื้นที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติยื่นคำร้องขอก่อสร้างต่อกรมป่าไม้นั้น

ล่าสุดนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ และอดีตหัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร ให้สัมภาษณ์ ว่า มติ ครม.ดังกล่าวมีหน่วยงานราชการยื่นขออนุญาตเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศประมาณ 1 แสนคำขอ และหลายพื้นที่ ยื่นไปแล้ว ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการก็ก่อสร้างไปก่อน หรือ หลายพื้นที่ ยื่นไปแล้วก็จริง แต่ก่อสร้างเกินกว่าพื้นที่ ที่ได้รับอนุญาต

“กรณีของศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ก็เป็นกรณีเดียวกับ พระใหญ่ บนเขานาคเกิด ที่สร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต และมีฝนตกดินโคลนถล่ม จนมีผู้เสียชีวิตไป 13 คน ก็อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมป่าไม้ และมีการก่อสร้างนอกเหนือพื้นที่ ที่ขออนุญาตเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการขออนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้องก็จริง แต่สำหรับวัดหรือสถานวิปัสนา ที่อยู่ในป่า ควรสร้างแบบสมถะ ไม่ใช่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและมีเนื้อที่มากเกือบ 200 ไร่ แบบนี้ถือว่า ไม่เหมาะสม เรื่องนี้ทางกรมป่าไม้ต้องออกมาตอบคำถาม ว่า หากอนุญาต อนุญาตได้อย่างไร”นายชีวะภาพ กล่าว 

ทางด้าน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ของพระ ว.วชิรเมธี นั้น ทางมูลนิธิวิมุตตยาลัย ได้ขออนุญาตก่อสร้าง 113 ไร่ และทางสำนักพุทธศาสนา ขอใช้อีก 30 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 143 ไร่ แต่เมื่อมีการใช้พื้นที่จริง ไป 190 ไร่ ก็ถือว่า พื้นที่เกินจากการขออนุญาตไปนั้นเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 47 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนี้ ตนจะสั่งการณ์ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ จ.เชียงรายเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค.นี้

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า หากตรวจสอบรังวัดแล้วพบว่า ใช้พื้นที่เกินอนุญาตจริงและพื้นที่ ที่เกินมานั้นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ก็ให้แจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  ม.54 ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำการใดๆอันเป็นการทำให้ป่าเสื่อมโทรม มีโทษ จําคุก 1-20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ถ้าได้กระทําเกินเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ จําคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 2,000,000 บาท.