พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อุปนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ เลขาธิการสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย, พล.ต.หญิง ฟ้าวลัย พลอยมุกดา อุปนายกและเหรัญญิกสมาคมฯ, ร.ต.อ.วัลลภ จิราทรวัฒนะ รองเลขาธิการสมาคมฯ และผู้บริหารสมาคมฯ ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย

โดยมีวาระสำคัญในการประชุมดังนี้ การแข่งขันรายการ SEA Aquatics Age Group Championships ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 6-8 ธ.ค.67 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ มีนักกีฬาเข้าร่วมแล้วกว่า 800 คน จาก 9 ประเทศ เป็นการเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดเท่าที่จัดมา, กำหนดจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2567 เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ใหม่ ในวันที่ 9 พ.ย.67 ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ, และการจัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระหว่าง สมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย กับ บริษัท พีทีที เรส จำกัด เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบฐานข้อมูล และสารสนเทศของสมาคมฯ ให้ทันสมัย ครอบคลุมทุกมิติ

ขณะที่ สหพันธ์กีฬาทางน้ำโลก (World Aquatics) และคณะกรรมการโอลิมปิกเยอรมัน ได้ส่งวิทยากร มาจัดโครงการ Learn to Swim ระหว่างวันที่ 10 ต.ค.-3 พ.ย.67 เพื่ออบรมให้ความรู้ผู้ฝึกสอนชาวไทย เริ่มที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 14-18 ต.ค.67, จ.จันทบุรี วันที่ 21-25 ต.ค.67 และ จ.สงขลา วันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย.67

สำหรับวิทยากรที่จะมาถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้คือ มร.คริสเตียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุดครูฝึกตามโครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิต “ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น” มีความเห็นว่า รู้สึกทึ่งในการฝึกสอนให้เด็กด้อยโอกาสสามารถลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น ช่วยเหลือตนเองได้ โดยหลังจากจบการอบรมให้ความรู้ที่ จ.สงขลา แล้ว ทาง มร.คริสเตียน จะไปเยี่ยมชมการฝึกเด็กตามโครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิต “ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น” ที่ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 2-8 พ.ย.67 เพื่อนำประสบการณ์แนวทางของไทยไปเผยแพร่ให้กับประเทศต่างๆเพิ่มเติมอีกด้วย

พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมพัฒนาบุคลลากรกีฬากระโดดน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมจัดการแข่งขัน ระดับชาติ-นานาชาติ ที่ ศูนย์กีฬาทางน้ำ ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 19 คน ซึ่งนโยบายของสมาคมฯ ได้มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่ได้รับมาเดิม เพื่อทบทวนหลักสูตรที่มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่อย่างถูกต้อง สามารถนำไปต่อยอดในระดับนานาชาติได้ต่อไป