คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 8 ก.ค. เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสูงอยู่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ และส่งผลให้ทางการตัดสินใจ ไม่ให้แฟนกีฬาชาวญี่ปุ่นเข้าสนาม เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแฟนกีฬาชาวญี่ปุ่น ไม่สามารถเข้าชมโอลิมปิกเกมส์ 2020 ในสนามได้ แต่แฟนกีฬาชาวญี่ปุ่น และแฟนกีฬาทั่วโลก รวมมากกว่า 5 พันล้านคน จะได้สัมผัสความตื่นเต้นของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ผ่านหน้าจอ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และครอบคลุมมากขึ้น ด้วยพันธมิตรการออกอากาศ ที่มากกว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อนๆ

สำหรับการถ่ายทอดสด “โตเกียวเกมส์” ครั้งนี้ ในญี่ปุ่นเองจะมีการออกอากาศทางทีวีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากโอลิมปิกเกมส์ 2016 ส่วนในสหรัฐอเมริกา NBC Universal จะออกอากาศมากกว่า 7,000 ชั่วโมงครอบคลุมทีวี และแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นสถิติการถ่ายทอดโอลิมปิกของสหรัฐ ขณะที่ ทั่วยุโรป Discovery Eurosport จะถ่ายทอดสดทางทีวี และแพลตฟอร์มดิจิทัล นานถึง 4,000 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อหาในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ จะออกอากาศใน 50 ประเทศ

โดย ไอโอซี และทีมถ่ายทอดของไอโอซี (Olympic Broadcasting Services หรือ OBS) ซึ่งทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดโอลิมปิกเกมส์ 2020 และพันธมิตรการออกอากาศโอลิมปิกเกมส์ ได้สร้างชุดเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Share the Passion” จะช่วยให้นักกีฬามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และครอบครัวจากสถานที่แข่งขัน และทำให้บรรดาแฟนจากทั่วโลก สามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนฮีโร่ด้านกีฬาของพวกเขา


ส่วน Fan Video Matrix จะช่วยให้แฟนๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การแข่งขันอย่างแท้จริง โดยแฟนๆ จะสามารถแบ่งปันปฏิกิริยาของพวกเขาต่อการแข่งขันกีฬาในวิดีโอเซลฟี่ 5 วินาที ซึ่งจะถูกนำไปแสดง เป็นเมทริกซ์วิดีโอภายในสถานที่แข่งขัน ขณะที่ Cheer Map หรือ แผนที่เชียร์ จะมีปุ่ม “เชียร์” เสมือนจริง ที่ฝังอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้แพร่ภาพกระจายเสียงหลายแห่ง แฟนๆ สามารถดูฟีดการออกอากาศของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และปรบมือหรือเชียร์ โดยคลิกที่ปุ่มได้ ซึ่งระบบจะรวบรวมเสียงเชียร์ทั้งหมด และแสดงแผนที่โลกของ “กิจกรรมเชียร์” โดยแผนที่จะถูกส่งเป็นวิดีโอสตรีมไปยังผู้แพร่ภาพกระจายเสียงและแสดงบนกระดานวิดีโอของแต่ละสนาม ด้าน Athlete Momen-Family & Friends ในสถานที่ที่กำหนด นักกีฬาโอลิมปิก จะสามารถโต้ตอบสดๆ ได้ทันที กับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่บ้าน หลังการแข่งขัน ผ่านสถานี “Athlete Moment” โดยเฉพาะ

ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ทีมถ่ายทอดสดของไอโอซี จะเพิ่มขอบเขตของการออกอากาศกีฬาโอลิมปิก ด้วยการผลิตเนื้อหามากกว่า 9,000 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าเนื้อหาในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นการถ่ายทอดสดครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่จะส่งสัญญาณในระดับ Ultra High Definition (4K) HDR พร้อมระบบเสียง Immersive Audio (5.1.4) ผู้ชมทั่วโลกจะได้รู้จักกับมุมกล้องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน มีการรีเพลย์ภาพ 360 องศา การถ่ายทอดสดจากกล้อง Virtual Reality (VR) หลายตัว และข้อมูลการวิเคราะห์ที่ประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากกว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งไหนๆ

สำหรับแฟนกีฬาชาวไทย สามารถรับชมและเชียร์นักกีฬาทีมไทย ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ได้ทางช่อง T-Sports ร่วมด้วย Thai PBS, NBT, PPTV, JKN 18, ทรูโฟร์ยู 24, GMMTV 25 และ AIS PLAY

คุณหญิงปัทมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เน้นย้ำการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ รวมถึงข้อตกลงเรื่องการพักรบระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก โดยประธานสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ยื่นคำร้องต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ให้ทุกชาติปฏิบัติตามข้อตกลง การพักรบช่วงโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.-12 ก.ย.นี้ หรือ 7 วัน ก่อนเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ไปจนถึง 7 วัน หลังจากพาราลิมปิกเกมส์ จบลง.