เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้ง ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลว่านหัวสืบ (Disporum) จำนวนถึง 4 ชนิด ซึ่งพบในพื้นที่จำกัดบนระบบนิเวศป่าดิบเขาใน จ.เชียงใหม่ ลำปาง ตาก และพิษณุโลก

นายอรรถพล กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยนายวรดลต์ แจ่มจำรูญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช นักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายอนุวัตร สาระพันธ์ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ นายเฉลิมพล สุวรรณภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับ ศาสตราจารย์ ดร. Trevor R. Hodkinson จากทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการทางด้านพฤกษศาสตร์ ตรวจสอบและยืนยันชนิด

ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Blumea ซึ่งเป็นวารสารเก่าแก่ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทางด้านอนุกรมวิธานพืช ฉบับที่ 69 ประจำปี 2024 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย เป็นพื้นที่สำคัญในการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลนี้ โดยพบถึง 6 ชนิดจากทั่วโลกที่พบทั้งหมด 24 ชนิด อย่างไรก็ตาม พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบทั้ง 4 ชนิดนี้ อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าดิบเขาในประเทศไทย รวมทั้งต้องความสำคัญในศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ การค้นพบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทย และความจำเป็นในอนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเทียวและศึกษาธรรมชาติต่อไป

สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลว่านหัวสืบ (Disporum) จำนวน 4 ชนิด ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่

1. ว่านหัวสืบเชียงดาว Disporum  chiangdaoense Sarapan & Suwanph. พบบริเวณป่าดิบเขา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 94 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีขาวครีม ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีขาวครีม คำระบุชนิด ‘chiangdaoense’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียวดาวที่เป็นสถานที่เก็บตัวอย่าง    

2. ชมพูจักร Disporum  dorsifixerum Sarapan & Suwanph. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา จ.ลำพูน เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 160 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีเขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีชมพู ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีชมพู คำระบุชนิด ‘dorsifixerum’ อธิบายลักษณะการติดของอับเรณู    

3. จักรเศวตร Disporum  phuhinrongklaensis  Sarapan & Chamch. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา จ.พิษณุโลก และเชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 105 ซม. ลำต้นอวบน้ำ เขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีขาว ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีขาว คำระบุชนิด ‘phuhinrongklaensis’ หมายถึง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่เก็บตัวอย่างต้นแบบ 

4. มณีราคหมันแดง Disporum  scabridum Sarapan & Hodk. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา ระดับทะเลปานกลาง 800-1,000 เมตร จ.พิษณุโลก เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 100 ซม. ลำต้นอวบน้ำ เขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีแดงเลือดนก ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีแดงคำ ระบุชนิด ‘scabridum’ อธิบายลักษณะกลีบรวมที่รยางค์มีความสาก 

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า โดยตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งหมดเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ เพื่อการศึกษาและวิจัยต่อไปทางด้านอนุกรมวิธานพืชและที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้เร่งศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ในถิ่นกำเนิดและหาแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป