ในช่วงปีที่ผ่านมา การผนึกกำลังในการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการทำภารกิจเพื่อร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่านั้นเกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนและเกษตรกร มีอาชีพ มีรายได้ ผ่านโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่า เราได้ตั้งเป้าให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะใช้ปูนคาร์บอนตํ่า ภายในปี 2568 เรายกระดับนวัตกรรมรีไซเคิลเพื่อสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ตรงนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน” “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เน้นยํ้าในหลายเวที

หลังจาก 2 เดือนที่ผ่านมาได้ระดมสมองทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คน เพื่อหาแนวทางร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา “ธรรมศักดิ์” สรุปผ่าน 2 ประเด็นหลัก ที่จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่าแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาข้อติดขัด ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ควบคู่กับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สรุปเป็น 4 ข้อเสนอให้รัฐบาล เริ่มจาก

1.ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด ภาครัฐต้อง เร่งเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ กำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อความเสถียรยิ่งขึ้น ภาครัฐนำการ จัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งระบบ กระตุ้นการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิล และจัดการของเสีย กำหนดมาตรการจูงใจ เช่น ลดภาษีหรือเงินสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมนโยบาย “Green Priority” ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีนและสร้างระบบนิเวศเข้มแข็ง

2.ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) สนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอน ที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ช่วยลดต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว ซึ่งเอสซีจีพร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนเอสเอ็มอี และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

3.พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โดยรัฐ สนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโครงสร้างและผลักดันการใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด, เร่งปรับปรุงระบบขนส่งสีเขียวครบวงจร ให้ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน ลดเวลา เช่น ใช้ระบบวิเคราะห์เส้นทาง วิเคราะห์การบรรทุกสินค้าที่เหมาะสม ที่สำคัญควร เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ เริ่มต้นง่าย ๆ ขอให้ส่งเสริมการแยกขยะเปียก และขยะแห้งก่อนเลย พร้อมจัดตั้งศูนย์คัดแยกและจัดการขยะที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น เทคโนโลยีการคัดแยก ระบบบำบัดและจัดการขยะเหลือทิ้ง

และ 4.สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs ด้วยการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัตโนมัติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อ
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี

“เราเชื่อมั่นว่า จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทยยิ่งขึ้น หากรัฐบาลสนับสนุนการเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และนำทั้ง 4 ข้อเสนอมาปฏิบัติในพื้นที่จริง จะทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัด แนวทางแก้ไข โดยรัฐบาลส่งเสริมกระจายอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินงานสู่หน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อลดขั้นตอนและความไม่ชัดเจนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ จะทำให้การขับเคลื่อนทุกด้านมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นโอกาสขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคต เอสซีจีและพันธมิตรทุกภาคส่วนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขับเคลื่อนข้อเสนอข้างต้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อทุกคน” ธรรมศักดิ์ ยํ้าทิ้งท้าย.