เมื่อเวลา 07.30น. วันที่ 14 ต.ค.67 ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  มีการจัดงานรำลึก  14 ตุลา  ประจำปี 2567  โดยบรรยากาศในช่วงเช้า ผู้ร่วมงานร่วมตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จากนั้นมีพิธีกรรม 3 ศาสนา  คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ก่อนจะร่วมวางพวงมาลา กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516   ซึ่งครบรอบ 51 ปี

โดยปีนี้  นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาลเป็นตัวแทนน.ส.แพทองธาร   ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา  นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร   นายชัชชาติ   สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนวีรชน ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน และผู้แทนเยาวชน


ตัวเเทนพรรคการเมือง  อาทิ  นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ  รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย    น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  สส.กทม. ตัวแทนพรรคประชาชน   นายอลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์   น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ตัวแทนคณะก้าวหน้า  เป็นต้น เดินทางมาร่วมวางพวงมาลาอย่างพร้อมเพรียง​ 


นายสมคิด กล่าวสุนทรพจน์ ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นของผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ประเทศมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งความทรงจำและรำลึกถึงวีรชนผู้กล้าทั้งหลายและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สำหรับคนไทยทุกคนรวมทั้งเยาวชน นิสิต นักศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี ความปรองดองให้เกิดขึ้น ในสังคมไทย และใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกัน โดยรับฟังเสียงข้างน้อย  และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออก​ ทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และช่วยจรรโลงให้สังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ความรัก ความสมานฉันท์ตลอดไป​ ในนามของรัฐบาล ขอแสดงความรำลึกถึงเหล่าวีรชนผู้กล้าทุกท่าน

ด้าน​ นายณัฐพงษ์  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึก ตอนหนึ่งว่า​  เหตุการณ์ในวันนี้​ เราไม่ได้มาเพียงแต่รำลึกความเสียสละการต่อสู้ของวีรชนอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือการรำลึกถึงวัตถุประสงค์ความเป็นมาถึงข้อต่อสู้ข้อเรียกร้องของประชาขนในอดีตว่าเขาต้องลงท้องถนนมาต่อสู้ในสิ่งต่างๆเหล่านี้เพราะอะไร ตนในวัย 37 ปี  ถ้าจะให้มากล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเกิดไม่ทัน บอกได้ว่าตนเดียงสาทางการเมือง คงไม่สามารถที่จะรำลึกถึงความคับแค้นใจของพี่น้องได้  แต่ในยุคนี้สิ่งที่ตนมีร่วมกับทุกคน คือเจตจำนงทางการเมือง ต้องการพัฒนาการเมืองประเทศในการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า แม้ตนไม่ได้อยู่ร่วม ต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลา 16 ด้วย แต่คิดว่าเรายังไปไม่ถึง เช่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วันนี้พวกเราก็ต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ ยังมีบางอย่างที่ประสบปัญหาและอุปสรรคการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้และถูกเล่นงานกันแกล้งคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออีกหลายกรณี เช่น หลายคนที่เป็นจำเลยในคดี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังหลบหนีอยู่ ยังไม่ถูกนำตัวมาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตได้กำลังสอนพวกเราอยู่ว่าวันนี้กระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจจะยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ตนเชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างควบคู่กันได้

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ตอนนี้หลายฝ่ายหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐรัฐบาลเราเห็นด้วยตรงกันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประชามติเพียงแค่สองครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ติดปัญหาอุปสรรคในการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เชื่อว่าถ้าเราเดินหน้าการทำประชามติเพียงแค่สองครั้งเราก็สามารถทำรัฐธรรมนูญได้ทัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า  ยืนยันว่าตนจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เฉพาะ 14 ตุลาก็มีการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อตนก้าวเท้าเข้ามาสู่การเมืองแล้วก็พร้อมที่จะลับคมหอกคมดาบ

ขณะที่​ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า เนื่องในวาระครบรอบ 51 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ได้ย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง.