เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการแยกตัวที่บ้าน Home Isolation และ การกักตัวในชุมชน community Isolation เดิมทีเราไม่อยากใช้มาตรการนี้ถ้าไม่จำเป็นเพราะมีผลเสีย 2 อย่าคือ ผลเสียกับสุขภาพของผู้ติดเชื้อ ถ้าอยู่ที่บ้านคนเดียวไม่มีใครช่วยดูแล ถ้าสุขภาพแย่ลงก็อาจเปลี่ยนจากอาการสีเขียวเป็นสีแดงและเสียชีวิตได้ถ้าไม่มีคนดูแล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลเสียที่ 2 ผลเสียต่อชุมชน ซึ่งจากการทบทวนจากต่างประเทศ มีหลายประเทศ เช่น อังกฤษใช้ Home Isolation แต่ทำไม่ได้ 100% ทำให้แพร่เชื้อสู่ครอบครัว และเมื่อออกไปข้างนอกก็แพร่เชื้อในชุมชนได้ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจึงไม่อยากทำเรื่องนี้ แต่วันนี้ที่จำเป็นเนื่องจากอัตราการครองเตียงพบว่า อัตราการครองเตียงประจำวัน ใน กทม.และปริมณฑล ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 เดิมครองเตียง 19,629 เตียง แต่ล่าสุดวันที่ 9 ก.ค.2564 อัตราครองเตียงขึ้นมาถึง 30,631 เตียง แค่ 1 เดือนผ่านไป อัตราครองเตียงขึ้นถึงหมื่นเตียงต่อวัน นี่คือภาระที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกำลังประสบอยู่
ทั้งนี้ หากมีอาการไม่มากและไม่มีอาการ หรือสีเขียวหรือเขียวอ่อนรวมแล้ว 76% ส่วนสีเหลือง 20% สีแดง 4% แต่ตรงนี้ต้องใช้เตียงไอซียูจะเห็นข้อมูลเดิม 714 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 1,206 ราย เพิ่มเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ เพิ่มไม่ยาก แต่บุคลากรเพิ่มยาก และที่มีอยู่ก็เหนื่อย หลายคนติดเชื้อ การจะขยายเตียงเพิ่ม บุคลากรก็จะไม่ไหว จึงเป็นที่มาต้องมีการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้การเพิ่มของสถานที่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องยาก จึงจะเห็นจากข่าวว่าพบบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อเป็นระยะ ๆ ซึ่งตอนนี้เตียงไม่พอ แม้จะขยายเตียงได้แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ไหว จึงมองว่า ถึงเวลาทำ Home Isolation และ community Isolation โดยจะนำผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียวอ่อนเขียวแก่เข้าในระบบดังกล่าว เพราะวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันแชะรัฐบาลจึงต้องล็อกดาวน์ สำหรับการทำ Home Isolation นั้น ต้องเป็นการแยกกักตัวได้จริงๆ โดยนอนคนเดียว แยกของกินของใช้ แยกขยะของเสีย ห้องน้ำใช้ร่วมกันได้ แต่ขอให้ผู้ติดเชื้อใช้คนสุดท้ายและทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง และสัมผัสกับคนให้น้อยที่สุด แต่ถ้าคนที่ไม่มีห้องนอนแยกหรือไม่สามารถแยกกับตัวจากที่บ้านได้ให้ใช้ community Isolation ซึ่งใช้หลักการ คือ บ้าน วัด โรงเรียน
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แนวทางนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจผู้ป่วย โดยจะมีการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยเอง แพทย์พยาบาล และภาคประชาสังคมหรือคนกลาง ในการประเมินร่วมกันและหาแนวทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ได้ทำช่องทางสื่อสารติดตามอาการทุกวัน โดยจัดระบบวิดีโอคอลเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร ระหว่าง แพทย์และผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการทุกวันและมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน ขณะที่สถานพยาบาลต้องมีการลงทะเบียน พร้อมให้ที่วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ที่สามารถทำเองได้ เพื่อเช็กว่าปอดยังดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้เรายังมีวิธีการลุกนั่งออกกำลังกาย 1 นาที ก่อนทำขอวัดออกซิเจนก่อน พอออกเสร็จวัดอีกทีหนึ่ง หากค่าออกซิเจนในกระแสเลือดลดลงกว่า 3% ก็จะต้องมา รพ. นอกเหนือจากนี้จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ถ้าอาการแย่ลงก็มาแอดมิทที่โรงพยาบาล
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้เรื่องการบริหารจัดการเตียง มีแนวคิดว่าให้คนที่อยู่ รพ. 7-10 วันแล้วไม่มีอาการให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงเพิ่มร้อยละ 40-50 และสามารถรับผู้ป่วยใหม่ได้ นอกจากนี้ในส่วนของ community Isolation อาจไม่ใช่แค่วัดและโรงเรียน แต่แคมป์คนงาน หมู่บ้านหรืออื่นๆ ก็ทำ community Isolation ได้ถ้ามีที่แยกตัว แต่ไม่ควรเกิน 200 คน มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้สีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่ จะให้ใช้ระบบ Home Isolation และ community Isolation ทั้งหมด โดยที่ผ่านมา รพ.ราชวิถี ได้ทำไปแล้วจนมีบางรายหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในสองส่วนนี้กำลังจะเพิ่มขึ้นเดือนที่แล้วมี 20 รายที่เข้าระบบ วันนี้กำลังรวบรวมน่าจะมีจำนวน 400-600 รายแล้ว จึงฝากให้ประชาชน พิจารณา 2 แนวทางดังกล่าว โดยยืนยันว่ามาตรการที่เตรียมไว้เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ย้ำว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้เตียงไม่พอจริงๆ ซึ่งจะขยายเตียงได้แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ไหว ดังนั้นเพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ต้องใช้ Home Isolation และ community Isolation ซึ่งหากภายใน 2 สัปดาห์นี้ ถ้ากดกราฟลงมาไม่ได้และทุกอย่างระบบเหมือนเดิมก็จะมีปัญหามาก หากผู้ติดเชื้อไม่ลดลง แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ก็จะทำให้ลดลงได้ 40-50% และเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นและผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจเชื้อก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกแบบระบบ ว่า สถานพยาบาลที่ไหนตรวจพบผู้ติดเชื้อก็ต้องรับแอดมิท แต่วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป จะเห็นข่าว รพ.เอกชน ไม่รับตรวจเพราะเตียงเต็ม วันนี้จึงได้แจ้งสถานพยาบาลเอกชนว่าให้รับตรวจเชื้อให้ประชาชน โดยใช้ชุดตรวจโควิดอย่างง่าย antigen rapid test เพื่อให้ตรวจง่ายขึ้น ซึ่งหาก รพ.เอกชน ใดตรวจผู้ป่วยแล้ว ถ้ามีผลบวกให้พิจารณาใช้ทั้ง 2 แนวทาง โดยถ้ามีเตียงและผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์ก็หาเตียงให้ แต่ถ้าไม่สามารถหาเตียงได้ให้จัด Home Isolation เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการดูแลต่อในระบบ หรือหากพบผู้ป่วยหลายคนแข็งแรงดี มีข้อกำหนดเหมาะสมก็จัดให้ทำ Home Isolation ได้เลย เพื่อช่วยลดภาระ และลดความตื่นตระหนกของภาคประชาชน จึงฝากสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ไม่ต้องกลัวว่าตรวจแล้วไม่มีที่แอดมิท เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องตระเวนหาตรวจตามที่ต่างๆ