การเมืองช่วงเดือนตุลาคมไม่เคยหยุดความร้อนแรง  และก็มาตามนัด วันที่ 10 เดือน 10 เมื่อนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน เดินทางไปยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร  ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดย ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบ อีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080แผ่น

โดยนายธีรยุทธ ระบุว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีการนำเอาผลการสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มาตั้งเขียนเรื่องร้องซึ่งใช้เวลา 2-3 เดือน เพื่อให้สำนวนคำร้องสมบูรณ์ที่สุด ง่ายต่อศาลรัฐธรรมนูญนำไปพิจารณา อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้มันเป็นจิ๊กซอว์ จนนำมาสู่คำร้องครั้งนี้   อย่างไรก็ตามไม่ได้เป็นใบสั่งจากพรรคใด เนื่องจากตนเห็นจากคำร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำพูดของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ได้ขึ้นไปพบนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็นำมาเป็นข้อมูลด้วย
 เนื้อหา โดยรวม “ชั้น 14 เป็นเหตุ! ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย” โดยเฉพาะมีพฤติการณ์  “เป็นเจ้าของ  – ผู้ครอบครอง – ผู้ครอบงำ  -ผู้สั่งการ”

โดยเอกสาร 5,080แผ่น  เล่นงาน “พรรคเพื่อไทย” กล่าวหา “นายใหญ่ทักษิณ” ร้องใน 6 ประเด็น  ได้แก่ 1 .ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปีโดยพบว่า ทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทย ผู้ เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจให้เอื้อประโยชน์แก่ “ทักษิณ” ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของ “ทักษิณ”  เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
2.สั่งการพรรคเพื่อไทย ลุยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทะเล ไทย-กัมพูชา  (MOU2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา 3.สั่งเพื่อไทยร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง

4.เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคล ผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่บ้านพักส่วนตัว (บ้านจันทร์ส่องหล้า) 5.สั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล  และ6. ให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายที่ “ทักษิณ” ที่แสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบาย ครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย.67

ทุกข้อหา ทั้ง 6 ประเด็น  ต้องยอมรับว่าเป็นการเล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกร่วมของประชาชนที่เห็นคล้อยตาม โดยเฉพาะกรณี ข้อสงสัย เรื่องกระบวนการยุติธรรม สองมาตรฐาน ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14  แม้เนื้อหาภาพรวมเป็นการเหวี่ยงแห ในภาพกว้างๆ ในทุกประเด็น ไม่เน้นในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง   แต่ก็สามารถปราม “ทักษิณ” ไม่ให้ออกมาล้ำเส้น ในการทำหน้าที่ “ครอบงำทางการเมือง” ในการบริหารพรรคเพื่อไทย และการทำงานของรัฐบาล

ซึ่งก็ต้องจับมาว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเป็น จุดจบของรัฐบาล ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ  พูดไว้ หรือเป็นแค่การปั่นราคาตีกินทางการเมือง.