วันที่ 10 ต.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บอกว่า “ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จะมีข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นถึงขั้นทำให้รัฐบาลอาจล่มสลาย” ซึ่งน่าสนใจเพราะยังไม่มีร่องรอยเตือนว่า เป็นเรื่องอะไร “จ๊อบ” สามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรค พปชร. คนสนิท “บิ๊กป้อม” ออกมาย้ำว่า “ข้อมูลที่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การล่มสลายของแกนนำพรรครัฐบาล สะเทือนวงการการเมืองแน่ ไม่มีมวยล้มต้มคนดูไม่ใช่หนังเก่า”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเล่นการเมืองแบบนี้ทำให้ประชาชนเบื่อหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “การเล่นการเมืองตรวจสอบคนอื่น แต่ไม่ตรวจสอบตัวเอง แบบนี้น่าเบื่อมากกว่า และคนไทยเสียโอกาส”

“เชื่อว่า ข้อมูลนั้นจะเปลี่ยนนายกฯ ได้ และรู้สึกว่าลุงป้อม หัวหน้าพรรค พปชร. แข็งแรงผิดปกติ ชาวบ้านเป็นแรงบันดาลใจให้ลุงป้อม และล่าสุดที่ไปกราบหลวงปู่ศิลา ก็ได้รับคำอวยพรที่เป็นมงคลและตราบใดที่ลุงป้อมยังไม่ลาออกจาก สส. แสดงว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ลุงป้อมเป็นฝ่ายค้าน วันพุธที่ 2 ต.ค.ก็มาสภาแต่เราไม่เห็น และการที่ลุงป้อมจะมาหรือไม่มาถือว่าเป็นสิทธิ แต่หากผิดข้อบังคับ ก็ต้องถูกดำเนินการตามระเบียบ ถ้าอยากเห็นลุงป้อมในสภา ก็ต้องเลือกท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหากเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมาอยู่แล้ว”

ด้านพรรคเพื่อไทย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ในการประชุม สส.วันที่ 8 ต.ค. ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว พรรคเพื่อไทยไม่ได้วิตกกังวลแถมขำด้วยซ้ำ ที่บอกว่าจะเปลี่ยนตัวนายกฯ และยุบพรรคเพื่อไทย ไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดเรื่องในวันพรุ่งนี้ หากมีการยื่นยุบพรรคทุกอย่างต้องมีขั้นตอนกระบวนการ เราไม่ได้กังวลว่า จะถูกยุบ เพราะมีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่ 

นายสมคิดยังบอกว่า ถ้าต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ แคนดิเดตในฝั่งรัฐบาลยังมีอยู่ คือ นายชัยเกษม นิติสิริ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย แต่จะเปลี่ยนตัวนายกฯ ต้องอยู่ในกระบวนการตามรัฐธรรมนูญถ้าใครอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องหาเสียงในสภาให้เกินครึ่งมาล้มกัน เล่นการเมืองกันเพลิน เดี๋ยวก็ไม่มีสภาให้เล่น ถ้าคิดจะให้รัฐบาลระส่ำมันไม่มีประโยชน์ เพราะทำให้ประชาชนสับสน ตนคุยกับรัฐมนตรีหลายคนต่างก็บอกว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร และเรื่องนี้นายกฯ ไม่ได้กังวลใจใด ๆ มีแต่ห่วงม็อบขอให้ตนได้คุย และเคลียร์กับม็อบให้รู้เรื่อง

สำหรับความคืบหน้าคดีตากใบ วันที่ 9 ต.ค. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน   ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาล จ.นราธิวาส ฟ้องและออกหมายจับจำเลย 7 คน และอัยการสูงสุดเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน สั่งส่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน  รวมทั้งหมด 14 คน ซ้ำกับจำเลยเดิม 1 คน  

นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน (ปชน.) ตัวแทน กมธ.กล่าวในที่ประชุมว่า ทราบว่าบุคคลที่หนีออกไปนอกประเทศคนหนึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  อีกคนอยู่ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่นใช่หรือไม่ ฝ่าย พ.ต.อ.รังษี มั่นจิตร ตัวแทนจากตำรวจภูธรภาค 9 ชี้แจงว่า ที่นายรอมฎอนพูดมา ถือว่าให้เบาะแสตร.ส่งเรื่องไปยังอินเตอร์โพลเพื่อขอหมายแดงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค.  

ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายวิทยา แก้วภราดัย กมธ. ได้กล่าวว่า หลังจากดูชื่อผู้มาชี้แจงมาถามตรงนี้ก็ไม่ได้อะไร  เพราะคนที่โดนออกหมายจับเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกคนในนี้ ยกเว้นอัยการที่ไม่มีผู้บังคับบัญชา เรื่องนี้หากจะเดินต่อได้ให้ถามรัฐบาล ถามตรงนี้ไม่มีคำตอบ  ต่อให้ตอบก็ตอบไม่ถูก 

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ แถลงผลการประชุมเรื่องตากใบว่า 1. คดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาจำนวน 14 คน โดยผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในประเทศไทย 12 คน 2 คนเป็นข้าราชการและยังรับราชการอยู่ ทางตำรวจได้ประสานงานกับผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนแล้ว และคาดว่ามีผู้ต้องหาจำนวนอีก 2 คนอยู่ต่างประเทศโดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนติดตามไปตามภูมิลำเนาแต่ไม่พบตัวโดยจะมีการติดตามจับกุมต่อไป รวมทั้งได้มีการประสานไปยังกองการต่างประเทศเพื่อออกหมายติดตามตัวแล้ว

2.หากเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาได้ก่อนวันที่ 25 ต.ค. 2567 ทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีความพร้อมดำเนินคดี 3.กมธ.เห็นควรให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมจะเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อคดีหมดอายุความ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

คาดว่า ผู้ต้องหาบางส่วนอาจไม่มามอบตัวจนวันหมดอายุความ ดังนั้นประเด็นที่น่าจะต้องพูดกันต่อไปก็เป็นอย่างที่นายกมลศักดิ์พูด คือต้องเตรียมรับสถานการณ์หากจะมีการนำเรื่องนี้มาปลุกผีไฟใต้อีก

สำหรับภารกิจของนายกฯ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. เมื่อเวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เข้าร่วมการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 มีการพูดถึงความร่วมมือในอาเซียนหลายเรื่อง ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา

นายกฯ อิ๊งค์ เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) ตอนหนึ่งว่า การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

“สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมากมาย 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียนและภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ 2.ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมาและสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป

3.อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออกเป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง  และ 4.อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาวโดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา” นายกฯ กล่าว

เรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ สว.แก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา โดย สส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับ สว.หรือไม่ ภายหลังจากแก้ไขเนื้อหาการออกเสียงการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญให้ยึดหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว

สส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างคัดค้านการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ขณะที่ สส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนเนื้อหาตามที่ สว.แก้ไขมา เมื่อลงมติ เสียงข้างมาก 348 เสียง ไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่วุฒิสภาส่งคืนมา โดยมีงดออกเสียง 65 เสียง จากนั้นได้ตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภา จำนวน 28 คน เป็นสัดส่วน สส.14 คน และสว.14 คน มาพิจารณาร่วมกันต่อไป

ผู้ลงมติงดออกเสียง 65 เสียง เป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งสิ้น จากทั้งหมดที่มีสส. 71 คน โดยมีเพียง 6 คนที่ไม่ได้กดงดออกเสียง

“ทีมข่าวการเมือง”