เมื่อวันที่ 9 ต.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยถึงวิวัฒนาการการซื้อขายสินค้าจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่า ในอดีตก่อนการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต การซื้อขายสินค้ามักเป็นการโฆษณาบอกปากต่อปาก หรือการโฆษณาผ่านโทรทัศน์ แต่ภายหลังที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาก็มีเว็บไซต์ออนไลน์ต่าง ๆ เกิดขึ้นและเอื้อต่อการทำโฆษณาในรูปแบบออนไลน์ ทำให้โฆษณาการซื้อขายสินค้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน คือ ประชาชนสนใจผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ หมายถึงเมื่อมีการโฆษณาจะเน้นผลสำเร็จมาเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่าง กรณีการโชว์ทรัพย์สินหรือความสำเร็จรูปแบบต่าง ๆ ของผู้ขาย ทำให้คนรับชมได้คิดต่อว่าคนเหล่านี้ทำธุรกิจอะไรจึงร่ำรวยมั่งคั่ง

พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า สำหรับภารกิจของดีเอสไอที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือคดีที่มีประชาชนจำนวนมากเป็นผู้เสียหาย ส่วนใหญ่เป็นคดีความประเภทแชร์ลูกโซ่ ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่มีพัฒนาการจากอดีตที่ไม่มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย ทำให้รูปแบบการหลอกลวงสมัยนั้นมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่ม เช่น มีการบอกปากต่อปาก มีการจัดสัมมนาตามสถานที่ เป็นต้น ขณะที่วัตถุที่ถูกนำมาใช้อ้างและหลอกลวง มักเป็นสินค้าที่จับต้องได้ โดยดีเอสไอเคยทำคดีแชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ลอตเตอรี่ หากสังเกตจะพบว่าการกระทำผิดของแชร์ลูกโซ่ในอดีตมีการจับเอาธุรกิจสินค้าที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เห็นอยู่แล้วในสังคม และใช้วิธีการเน้นการระดมทุน หรือการหาสมาชิกเข้ามาในวงแชร์ หรือเน้นค่าสมัครสมาชิก แต่ไม่ได้มีสินค้าหรือบริการอยู่จริง หรือหากมีสินค้าก็จะเป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ แล้วนำเงินมาหมุนเวียนจ่าย

พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า พัฒนาการแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดคือ ช่วงเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ Facebook TikTok และอื่น ๆ ที่เป็นการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้รูปแบบอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการนำตัวละคร หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตมาใช้หลอกลวง ยกตัวอย่าง การเทรดสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) การสมัครเข้าทำงานผ่านเว็บไซต์ ให้กดถูกใจ กดไลก์ กดแชร์ และให้ค่าตอบแทนอัตราสูง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้มีการประกอบธุรกิจ หรือแม้มีธุรกิจจริงก็ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามที่โฆษณาไว้ ดังนั้น จึงมีความคล้ายแชร์ลูกโซ่ในอดีต คือ เน้นหาสมาชิกและนำเงินของสมาชิกมาหมุนเวียนจ่าย สุดท้ายรูปแบบอาชญากรรมยังได้มีการพัฒนามาถึงจุดที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เทรนด์ในปัจจุบันที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องการออมทอง แชร์ทอง ซึ่งสิ่งที่ล่อใจ คือ ค่าตอบแทนกลับ โดยไม่ได้หมายถึงตัวเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงทรัพย์สินอื่นที่ตีค่ากลับมาเป็นเงินได้ ยกตัวอย่าง มีการอ้างว่าออมเงินวันละ 500 บาท ในระยะเวลา 10 เดือน เท่ากับ 5,000 บาท จะได้รับทองคำ 1 บาท

”ทอง 1 บาทในที่นี้จะมีมูลค่าเทียบเท่าเงิน 40,000 บาท (ตามราคาทอง ณ ช่วงเวลานั้น) ทั้งนี้ หากผู้เสียหายลงทุน 10 เดือน ได้เงิน 5,000 บาท ได้ผลตอบแทนอีก 40,000 บาท พอคำนวณกลับมาเป็นตัวเลข จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่ธนาคารจ่าย จึงเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ได้ เพราะไม่มีกิจกรรมใดที่จะมีการจ่ายผลตอบแทนสูงขนาดนี้” พ.ต.ต.วรณัน กล่าวเสริม

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวด้วยว่า ดีเอสไอทำคดีแชร์ลูกโซ่มากว่า 20 ปี พบหลากหลายรูปแบบ หลายกรณีไม่ได้เป็นผู้เสียหายแต่เป็นนักลงทุน คนกลุ่มนี้รู้ว่าเข้าข่ายอาจแชร์ลูกโซ่แต่คิดว่าเข้าออกเร็วจะไม่เสียหาย ในส่วนนี้กองคดีธุรกิจการเงินฯ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ปัญหา โดยเฉพาะหากสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินเทียบที่ลงทุนกับความเสียหายจริง คือ ลงทุนไปมากกว่าเงินที่ได้ตอบแทนมาถือเป็นผู้เสียหาย แต่หากลงทุนและได้รับผลตอบแทนสูงกว่า แสดงว่าเงินที่ได้รับไปนั้นเป็นเงินของผู้เสียหายรายอื่น

นอกจากนี้ พ.ต.ต.วรณัน ยังชี้ความเสี่ยงแผนธุรกิจออนไลน์ด้วยการว่าจ้างคนดัง อินฟลูเอนเซอร์มารีวิวสินค้า ว่า ต้องส่งสัญญาณแรง ๆ เพราะค่อนข้างเป็นประเด็นน่าห่วงใย เนื่องจากผู้รับรีวิวเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งความเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจนั้นส่วนหนึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า “เป็นเพราะเขาเห็นท่าน เขาจึงเชื่อท่าน” แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรีวิวโดยรับค่าจ้างต้องเป็นผู้ที่ร่วมกระทำผิด หรือตัวการร่วมเสมอไป เพราะองค์ประกอบข้อกฎหมายการเป็นตัวการร่วมก็มีเงื่อนไขการพิจารณา เช่น ต้องร่วมรู้ ร่วมคิด ได้รับผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล ประการสำคัญจึงอยู่ที่การสอบสวน เมื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้วจะทำให้ทราบถึงกิจกรรมที่บุคคลเข้าไปมีส่วนร่วมว่าเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด จะเป็นเพียงผู้รับจ้างรีวิวตามหน้าที่ หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด หรือข้ามเส้นไปเป็นตัวการการกระทำความผิด

“ไม่ได้สรุปว่าห้ามรับจ้างรีวิวสินค้า เพราะเป็นอาชีพสุจริต เพียงต้องศึกษารายละเอียดและอย่าเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพราะสุดท้ายการสอบสวนจะปรากฏในชั้นทำคดี ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นเยอะแล้ว” พ.ต.ต.วรณัน ระบุปิดท้าย.