เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอหลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา คือวงเงิน 3,045 ล้านบาท 

นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร อย่างที่ตนเคยแจ้งไปครั้งที่แล้ว น้ำจะไม่ท่วมรุนแรง เหมือนปี 54 แน่นอน ตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะ ซึ่งเมื่อปี 54 เหลือพื้นที่แค่ 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้เหลือ 6,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นยังไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแล้ว ได้คุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รวมถึงในพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่งเราได้มอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด และต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในด้านของอุปกรณ์ อาหาร ยานพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพร้อมหมด หลังจากนี้ตนจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามความคืบหน้า แล้ววางแผนในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ ซึ่งจะมีระยะเร่งด่วนและระยะยาวด้วย โดยในวันที่ 15 ต.ค. นี้ หลังกลับจากการประชุมที่ สปป.ลาว จะวางเรื่องของคณะกรรมการและคนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ 

เมื่อถามว่ากรณีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากโคลน นอกจากการเยียวยาเหมาจ่ายแล้ว จะมีการเยียวยากรณีพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กรณีที่หนักจริงๆ แล้วเราช่วยอะไรเพิ่มเติมได้จริงๆ มีกรอบที่เคยขยายไปแล้ว ซึ่งทางมหาดไทยก็ได้เสนอในที่ประชุม ครม. วันที่ 8 ต.ค. ฉะนั้นกรณีต่างๆ อาจต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกทีหนึ่ง ทางผู้ว่าฯ จะช่วยดูในพื้นที่ 

เมื่อถามต่อว่า การช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท สามารถจ่ายได้ทันทีหรือจะมีหลักเกณฑ์อื่นใดบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้หลายครัวเรือนจ่ายไปแล้ว 5,000 บาท ทางระบบพร้อมเพย์ และอันนี้จะมีการทยอยจ่ายต่อเนื่อง โดยจะมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ประสบภัยหรือไม่.