จากกรณีเกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีช้าง 127 เชือก และสัตว์อื่นๆ อีกมากมายทั้งหมา แมว ควาย ไก่ หมู  กว่า 5 พันตัว ที่ป่วย พิการ ทำให้ต้องมีการระดมเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือและน้ำป่ายังได้พัดเอาช้างไปกับกระแสน้ำที่แรงและท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ช้างถูกน้ำพัดไปกว่า 30 เชือก กระทั่งมาพบซากช้างจมน้ำตายแล้วจำนวนหนึ่ง

ในขณะที่โลกโซเชียลออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากและตั้งคำถามว่า เหตุใดปางช้างแห่งนี้ถึงขนย้ายสัตว์ไม่ทัน แต่ขณะที่ปางช้างอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ถึงย้ายช้างขึ้นบนภูเขาได้อย่างปลอดภัย โดยก่อนจะเกิดน้ำท่วม ทางการได้มีการประกาศแจ้งเตือนอยู่แล้ว จึงทำให้ด้านทีมสัตวแพทย์หมอช้าง ควาญช้าง และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกมาตอบโต้ถึงระบบการเลี้ยงช้างที่เหมาะสม ลงในโลกโซเชียลออนไลน์ จนทำให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก

โดย หมอมามี สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล สัตวแพทย์หมอช้าง ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว ว่า “ปางช้างในส่วนแม่แตงมีกว่า 20 ปาง ที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2-3 เชือกไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจ ทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมาก และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก”

“เมื่อเกิดวิกฤตชาวช้าง ทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก ๆ ทั้งพี่ควาญช้าง พี่เจ้าของช้าง หมอช้าง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยช้างทุกเชือกให้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ต้องบอกว่าการเข้าช่วยเหลือช้างแต่ละตัวที่ประสบภัยอยู่ มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยทั้งต่อคนที่เข้าไปช่วย และช้างที่รอความช่วยเหลือ ยกตัวอย่างข้อจำกัด ช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่า ห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้”

“แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะไม่ได้มีต้นเหตุมาจากวิถีการเลี้ยงช้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถีทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้น ซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสีย ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี การออกมาพูดในเรื่องนี้ อยากให้ทุกคนที่เสพข่าวได้มองหลายด้าน ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือให้เกิดการพูดคุยกันก็ดีกว่ารอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วทุกคนก็แยกย้าย”

ด้าน ควาญช้างชื่อ “ดัมโบ้” ปางช้าง thai Elephant Home ก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ความเป็นจริงช้างทุกปาง ควาญต้องมีช้างเลี้ยง 1 คน ต่อหนึ่งเชือก แล้วในช่วงที่น้ำมา น้ำมาตั้งแต่วันที่ 2 และวันที่ 3 แล้วทำไมช้างคุณไม่เอาออกมา ทุกคนรู้กันหมดว่าน้ำมา หน่วยงานต่างๆ ก็แจ้งแล้ว แต่ทำไมคุณไม่ฟัง และควาญของคุณอยู่ไหนหมด ก่อนที่น้ำจะมาถึงเวลามีพอที่จะย้ายช้างออกได้แต่คุณเลือกที่จะไม่ย้ายเอง คุณจะไปโทษแต่คนอื่นไม่ได้นะ ต้องโทษตัวเองบ้าง ที่เราไปช่วยเพราะเรารักช้าง แต่พอคุณออกมาพูดแบบนี้ ควาญช้างเอกชนแบบพวกผม เสียความรู้สึกช้างทุกปางก็มีช้างดุๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มี แล้วทำไมเขาเอาออกหนีน้ำได้ ในเมื่อก็เป็นช้างดุเหมือนกัน การที่พวกผมใช้มีดใช้โซ่ ใช้ตะขอ ไม่ใช่อยู่ๆเราจะไปทำไม่ดีไม่ร้ายกับช้าง แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและนักท่องเที่ยวเราจึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง”

“ปางผมที่พวกคุณบอกว่า ผมใช้โซ่ ใช้ตะขอเป็นการทารุณสัตว์ คุณลองเข้ามาดูในเพจผมนะครับ ช้างที่ผมอยู่ได้เดินเล่นได้เดินออกกำลังกาย ได้เดินในป่า ได้หาอาหารการกินหลายอย่าง เป็นอิสระ ปล่อยให้ช้างหากินในป่าบ้าง นี่แหละความสุขของช้าง ไม่ใช่อยู่แต่ในคอก แล้วช้างที่อยู่แต่ในคอก คุณลองคิดดูบ้างไหมว่าช้างจะมีความสุข ไม่ต่างอะไรจากคนที่ติดคุกตลอดชีวิตเลยครับ คิดครับคิด แล้วก็สำนึกบ้างนะ”

ต่อมา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้อีกว่า “ทุกคนที่เขาเข้าไปช่วย เขาทำเต็มกำลัง ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของปางเอกชนด้วยซํ้า เพราะสงสารสัตว์ทางคุณหมอคชบาล มช. ไปเต็มทีม ซึ่งดิฉันแทบไม่เคยเห็นการรวมพลังเต็มที่แบบนี้ ทหาร กู้ภัยมาจากทุกสารทิศ ควาญเก่งๆของปางอื่นเข้าไปช่วยเต็มที่”

“ทุกคนวางความคิดส่วนตัว มุ่งช่วยสัตว์ ถ้าไม่มีคนนอกเหล่านี้เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วย ช้างจะล้มมากกว่านี้ แต่เมื่อฟังการให้สัมภาษณ์หลายสื่อเมื่อวานนี้ ยอมรับว่าอึ้ง ที่ทุกฝ่ายพยายามพูดให้เข้าใจ คือ ระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องโซ่ค่ะ ระบบที่ต้องมีควาญเข้าถึงได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน แม้เรื่องมากมายที่ดิฉันอยากพูด แต่ก็คงจบแล้ว ขอให้สัตว์ที่ต้องเสียชีวิตครั้งนี้ สู่ภพภูมิที่ดีนะคะและดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยเหลือสัตว์ค่ะ เหนื่อยกันมาก เขาไม่ขอบคุณ แต่ดิฉันขอบคุณ”

ความคืบหน้าล่าสุด “แสงเดือน ชัยเลิศ” ขอจบดราม่า น้ำหลากท่วม มูลนิธิอนุรักษ์ช้างฯ เชียงใหม่ ลั่นการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นมีมูลค่าที่ต้องจ่ายเสมอ ส่งทีมทนายพิจารณา โดยระบุข้อความว่า “ดิฉันไม่ชอบทำงานท่ามกลางดราม่า และไม่อยากเสียเวลากับเรื่องอย่างนี้ เพราะคิดอยู่เสมอว่า ชีวิตคนเรามันสั้น เรามีเวลาจงใช้เวลาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หลายวันที่ผ่านมา ถ้าสังคมจะเห็นประเด็นใส่ร้ายป้ายสีโจมตีต่างๆ ต่อตัวดิฉัน จนกระทั่งนักข่าวแทบทุกสำนักต้องมาสอบถามข้อเท็จจริงจากดิฉัน เรื่องดราม่าไม่ใช่มีแค่วันนี้แต่มันมีมาเกือบ 20 ปี หลายคนถูกฟ้อง และลงข้อความขอโทษทางหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ หลายคนถูกพิพากษาติดคุก บางคนทั้งปรับทั้งจำ บางคนอยู่ระหว่างรอลงอาญา เมื่อมีเวลาดิฉันจะทยอยเอาลงสื่อมาให้สังคมได้รับทราบแล้วท่านจะได้โยงถูกกับประเด็นดราม่าว่าต้นตอมาจากไหน”

“แต่ประเด็นดราม่าต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ดิฉันอยากจะให้สังคมวิเคราะห์และตั้งคำถามว่า คนที่เลือกออกมาโจมตีคนอื่นในช่วงระหว่างการสูญเสียนี่มันมีเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร คนที่มีศีลธรรมเขาเลือกที่จะทำอย่างนี้หรือ ในวันที่พวกเรามีสัตว์ที่รับผิดชอบอยู่หลายพันชีวิตดิฉันไม่สามารถใช้เวลามาต่อสู้กับคนที่มีแต่ความเกลียดและจิตใจเต็มไปด้วยอคติ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลที่ดีเป็นเรื่องที่รับฟังได้และดิฉันพร้อมที่จะรับฟังและนำไปแก้ไขแต่เรื่องมีการวิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอคติและไม่เป็นความจริง ดิฉันจำเป็นต้องมาแจ้งความจริงให้สังคมได่รับทราบ”

“การกล่าวหาว่าที่ศูนย์ช้างเราไม่มีควาญประจำ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าพูดออกมาโดยที่ไม่รู้จริง โครงการของเรามีควาญช้างมากกว่าจำนวนช้างเสียด้วยซ้ำ คนพูดเคยมาเห็นวันที่พวกเราประชุมควาญช้างทุกๆสองอาทิตย์หรือไม่ เรื่องการขายทัวร์ในวันน้ำท่วมนี่ก็ยิ่งไปใหญ่โปรแกรม Volunteer ของเรามีการจองล่วงกันมาข้ามปีเราจะมีปฎิทินในเว็บไซต์อย่างชัดเจน และวันที่เราเกิดอุทกภัยเราประกาศแจ้งปิดให้อาสาสมัครและนักท่องเที่ยวได้ทราบในจดหมายข่าวอย่างชัดเจน”

“ทุกๆวันเราต่างมีบทเรียนจากการดำรงชีวิต ความสูญเสียที่เกิดขึ้นพวกเราใจแหลกสลาย และพวกเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ที่เหลืออยู่ในความดูแลของพวกเราให้ดีที่สุด ดิฉันขอบคุณคนรักสัตว์ทุกท่าน ที่เข้าไปตอบช่วยตอบแทนในหลายคอมเม้นท์ ดิฉันเข้าใจดีถึงการที่พวกท่านทนไม่ได้ ต่อสิ่งที่บิดเบือนเหล่านั้น แต่ดิฉันอยากขอร้องทุกท่านว่าอย่าไปตอบโต้ ถ้าท่านรักดิฉันเราเอาเวลาไปช่วยกันหาทางช่วยเหลือหมาแมวสัตว์ต่างๆ และชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วมกันเถอะ ขอจบดราม่าในหน้าเพจนี้นะคะเพราะชีวิตที่เหลือของดิฉันจะทำงานเพื่อสัตว์ที่ไร้เสียงเท่านั้นค่ะ”

ขอบคุณข้อมูล : PLAI DUMBO FC.DUMBO Mamee Kittisirikul NuNu- Silpa-archa และแสงเดือน ชัยเลิศ