ที่ฟาร์มเห็ดบ้านช่าง อยู่ที่ตำบลอุไดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เป็นของ นายทวีศักดิ์ เรหนูกลิ่น มีอาชีพเป็นเกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งเกษตรกรที่มีการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้วยการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะจนมีชื่อเสียงของคนในพื้นที่จนทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยจังหวัดสงขลาโดย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย พร้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ , อ.ดีน อาจารย์มทร.ศรีวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยเดินทางมาติดตามความก้าวโครงการดังกล่าวและมาดูแล้ว พบว่า กระบวนการผลิตก้อนเห็ดยังมีการพัฒนานำเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิการบ่มเพาะก้อนเห็ด รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีราคาย่อมเยาว์มาใช้เพื่อทุ่นแรง ส่วนการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะมาควบคุมอุณหภูมิโรงเรือน และก้อนเห็ดในสภาพอากาศที่แปรปรวนในพื้นที่จังหวัดสตูลนั้นสามารถสร้างผลผลิตให้ออกอย่างสม่ำเสมอและตรงความต้องการของตลาดได้อย่างลงตัว

ผศ.ดร.อภิรักษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องกระบวนการผลิต พบว่า การพัฒนาก้อนเห็ดมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบโจทย์โจทย์ก้อนเห็ดและการปลูกเห็ดต่อไปได้ คือ ทำอย่างไรให้ก้อนเห็ดมีคุณภาพที่สามารถให้ลูกค้าได้ก้อนเห็ดอย่างสม่ำเสมอตลอดไป

ทั้งนี้ที่นี่ยังต้องการความรู้การจัดการก้อนเห็ดอย่างมีคุณภาพในช่วงบ่มก้อนเห็ด หลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้การใช้เครื่องทุ่นแรงในกรณีมีความต้องการมากที่เป็นเทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ได้แพงเกินไปมาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ทั้งนี้ปัญหาที่ต้นน้ำเรื่องของ supply คนปลูกและก้อนเห็ดเป็นการเตรียมความพร้อม ถ้าหากต้องเจอกับตลาดใหญ่ที่มีความต้องการที่มากขึ้น เกษตรกรสามารถตั้งรับได้แล้วสามารถเชื่อมโยงกับ B2B หรือ b2c ที่เชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องได้ทั้งนี้นั่นหมายความว่า ความมั่นคงของอาชีพครัวเรือน และรายได้ที่เราคาดหวัง มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดไปด้วย.

นายทวีศักดิ์ เรหนูกลิ่น เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฯ เปิดเผยว่า ฟาร์มเห็ดของตนประสบปัญหาขาดทุนกว่า 50,000 บาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด และมีสภาพแห้งแล้งส่งผลให้การผลิตไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในขั้นตอนการบ่มก้อนเห็ดที่ใช้เวลานานจาก 30 วัน เป็น 45 วัน “ผมแบ่งการผลิตเป็น 2 ส่วน คือ การผลิตก้อนเห็ด และการเพาะดอกในโรงเรือน ซึ่งได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 30-32 องศา

และรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอทำให้มั่นใจว่า ในปีหน้า นั้นจะสามารถรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ ปัจจุบันฟาร์มมีลูกค้าประจำมารับซื้อผลผลิตวันละ 50 กิโลกรัม ทั้งนี้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอไม่ขึ้นลงตามสภาพอากาศเหมือนก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อันเนื่องจากเกษตรกรทั่วไปยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อก้อนเห็ดจำนวนมาก” นายทวีศักดิ์กล่าว

ผศ.พิทักษ์ สถิตวรรธนะ เจ้าของผลงานวิจัยฯ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีไปช่วยเกษตรกรผู้เพาะเห็ด โดยเฉพาะกรณีของ “ช่างเดี่ยว” เกษตรกรที่มีพื้นฐานช่างไฟฟ้า “จากเดิม ที่เคยดูแลเพียงโรงเรือน และควบคุมความชื้น นวัตกรรมใหม่ นี้ สามารถควบคุมอุณหภูมิของก้อนเห็ดโดยตรง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ระบบจะให้ความชื้นอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เห็ดออกดอกสม่ำเสมอ”

เทคโนโลยีดังกล่าว ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วกับโรงเรือน 4 หลังของ ช่างเดี่ยว ทำให้ทางมหาวิทยาลัย ต้องการผลักดันให้เป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุที่สนใจทำธุรกิจเพาะเห็ด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุนที่อาจสูงถึงหลักแสนบาท ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจเพาะเห็ดนั้นแนะนำว่า “ควรเริ่มจากตู้เพาะเห็ดก่อน เพื่อเรียนรู้ทักษะการดูแลและการจัดการโรค เมื่อมั่นใจแล้ว จึงค่อยลงทุนขยายเป็นโรงเรือน ทั้งนี้ในจังหวัดสตูลมีให้เห็นทั้งสองรูปแบบ” มหาวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาอุปกรณ์ 2 รูปแบบ: ตู้เพาะเห็ดพร้อมกล่องควบคุม สำหรับผู้เริ่มต้นกล่องควบคุมอย่างเดียว ในส่วนผู้ที่มีโรงเรือน อยู่แล้ว ราคาชุดอุปกรณ์อยู่ที่ 5,500 บาท รับประกัน 1 ปี

นางสุดา ยาอีด เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า การต่อยอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย นี้ นั้น เราดูแล้วในส่วนของการเพาะเห็ด ซึ่งส่วนมากเกษตรกรจะใช้ขั้นตอนวิธีการแบบเดิม ๆ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ทางมหาวิทยาลัยฯ นำงานวิจัยตรงนี้มาใช้สำหรับพี่น้องเกษตรกรโดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อที่จะให้พี่น้องเกษตรกรมีผลผลิตในเรื่องของเห็ดเพิ่มมากขึ้นต่อยอดในเรื่องของรายได้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ส่วนการขยายผลคิดว่างานวิจัยตรงนี้น่าจะมีการขยายผลให้กับเกษตรกรที่อยากมีอาชีพเสริมในเรื่องของการเพาะเห็ดก็อาจจะมีงบประมาณมาสนับสนุนส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มั่นคงต่อๆไป

“นอกจากเพราะเห็ดก็สามารถนำไปสู่ผลผลิตชนิดอื่นได้ ผลผลิตจากเห็ดนี้ถ้ามีจำนวนมากเราก็อาจจะสนับสนุนถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะให้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น และมีหลากหลายสินค้าที่ส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรเพราะว่าสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวสามารถนำเป็นของฝากของขวัญให้เกษตรกร และผู้ที่มากท่องเที่ยวจังหวัดสตูล สุดท้าย ก็เป็นนโยบายของทางภาครัฐโดยตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ ทั้งนี้งานวิจัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐได้”

สำหรับเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูลทีมวิจัยได้พัฒนาโจทย์ภายใต้โครงการวิจัย “ขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีกลุ่มเป้าหมาย 10 กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 9 ตำบล 4 อำเภอของจังหวัดสตูล