ถ้ารัฐบาลกระตือรือร้นจะทำจริง เราก็จะได้คำตอบแบบหนึ่งว่า “ฝ่ายนิติบัญญัติทำคู่ฝ่ายบริหารได้” ก็คือไม่ดึงเช็งนั่นแหละ ง่าย ๆ สามารถแบ่งแยกงานกันได้ แต่นี่พันหมื่นเหตุผลที่จะยกมาอ้าง คนที่ทวงยิกๆ คือนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) ยืนยันว่า “ต้องทำเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไปแล้ว มีผลผูกพัน”

ทำไมรัฐบาลไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ? รายมาตราก็ไม่เอาแล้ว แถมแก้ทั้งฉบับจะยึกยักอีก เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในครั้งที่นายกฯนิด นายเศรษฐา ทวีสิน โดนเรื่องจริยธรรมเล่นงาน ฝ่ายการเมืองดาหน้ามาพูดปาวๆ ว่า “จริยธรรมพวกนี้มันเข้มเกินไปจนทำงานไม่ได้” ซึ่งต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้นักการเมืองไม่ต้องใช้ประมวลฯเดียวกับองค์กรอิสระ  ( ม.219 )

หลายคนก็คิดกันมาก ทำไมดึงเช็ง ที่ดูน่าจะเข้าเค้าสุด คือ “ไม่อยากให้นักการเมืองถูกครหาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง” เพราะสังคมไทยให้ความสำคัญกับจริยธรรมสูง ถ้าไปแก้แล้วสื่อสารไม่ครบเห็นจะมีม็อบกันอีก..ซึ่งจริงๆ แล้ว ต้องบอกว่า “แก้ให้นักการเมืองมีประมวลจริยธรรมของตัวเอง ไม่ใช่ต้องไปใช้ขององค์กรอิสระ”

นิกร' เรียกถกอนุรับฟังความเห็นฯ 25 ต.ค. จ่อขอความเห็นสว.-สส. | เดลินิวส์

และถ้ามาแก้ช่วงนี้ ..ที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ปัญหาเรื่องความอ่อนไหวต่อสงครามอยู่.. มันยิ่งตอกย้ำให้เชื่อได้ง่ายว่า “นักการเมืองมุ่งแต่จะแก้กติกาให้ถูกใจตัวเอง” ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองที่เดินหน้าเสียคะแนนนิยม ภูมิใจไทยจึงกลายเป็นพรรคแรกที่ออกอาการสลัดคำว่า “เรื่องเร่งด่วน” ทิ้งไป ตั้งแต่ตอนจะแก้รายมาตรา

ขณะนี้หลายพรรคไม่พูดชัด แต่ค่อยๆ แบะท่าออกมาเรื่องยังไม่เอาแก้รัฐธรรมนูญ ปล่อยให้พรรคประชาชน ( ปชน.) เสนอวาระของตัวเองไป ซึ่งก็ต้องดูว่า เมื่อเข้าสภา ทั้ง สว.และพรรคร่วมรัฐบาลจะไปเข้าข้างหรือไม่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าผลประโยชน์ลงตัว ..ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลก็อ้างได้ว่า “เราไม่ได้เสนอ มาจากแคมเปญฝ่ายค้าน”

คำถาม “จะเอาอย่างไร” เป็นสิ่งที่น่ารำคาญที่สุด เพราะตอนนี้เหมือนวาระของฝ่ายการเมือง วนๆ เวียนๆ อยู่กับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ประชามติ นิรโทษกรรม จนไม่มีข่าวงานฝ่ายบริหารดีๆ เท่าไร ทั้งที่ตอนนายกฯเสี่ยนิดเข้ามาดำรงตำแหน่งนโยบายเยอะมาก อย่างเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ตอนนี้ก็เงียบฉึ่งหายไปเลย มีแต่เรื่องเงินหมื่นที่เป็นข่าว

เชื่อว่าประชาชนเองก็ต้องการความชัดเจนว่า ตกลงรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ ? อยากให้ใครพูดออกมาให้ชัดเจน กระแสข่าวหรือการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร จะได้เดินหน้าเรื่องอื่นต่อชัดๆ ตอนนี้เหมือนต้องนั่งดูท่าที “เสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งดูจะกำหนดทิศทางตัดสินใจ

ก็เห็นกันว่า ที่พรรคเพื่อไทยถอย ก็หลังจากภูมิใจไทยถอย ส่วนเสียง สว.นั้น นายนิกร จำนง เหน็บแนมว่า “เราพูดไม่ได้ว่าภูมิใจไทยเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างมีนัยยะสำคัญ เราพูดไม่ได้แต่เรามองได้” ซึ่งถ้าสภาผู้แทนฯ ดันทุรังแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ถึงจะรายมาตรา ถ้า สว.ไม่เล่นด้วยถึง 72 เสียงก็คือจบตั้งแต่วาระแรก

เบื่อความผัดวันประกันพรุ่ง เบื่อการต้องนัดหารือของรัฐบาล ซึ่งไม่รู้ว่า จะให้มันเรียบร้อยตอนไหน แต่จะให้บอกชัดๆ ว่าพักเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็อาจโดนนักร้องเล่นงานเข้าอีก ว่า ประกาศชัดว่า ไม่ทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา”  ..ก็คงต้องปลงว่า ความชัดเจนจากปากใครสักคนน่าจะยาก คงจะเล่นเกมดึงเช็งกันไปเรื่อย

ระหว่างนี้รัฐบาลก็บริหารประเทศดีๆ แล้วกัน เพื่อให้การเมืองมีอะไรขับเคลื่อนมากกว่าแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ.