“นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ผู้นำหญิงอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ถึงกับจุกอก เหตุไม่คาดฝัน สถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าแทรกมากระตุกกระแสผู้คนในสังคม อารมณ์รัฐบาลต้องรีบปลอบขวัญตามฟอร์มแบบไทยๆ วิ่งล้อมคอกกันหัวปั่น

โจทย์หนักสาหัส “ผู้นำมือใหม่” ต้องเจอกับสารพัดปัญหายังไม่นับรวมปัญหาการเมือง ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 167 ต่อ 19 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา ที่มี “สว. สีน้ำเงิน” เป็นประธาน เสนอแก้ไข โดยกลับไปใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” หาข้อยุติการทำประชามติ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือเป็นการ “กลับหลักการสำคัญ” ของร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และวุฒิสภาเองก็มีมติรับหลักการ ในวาระ 1 ไปแล้ว

ทว่า “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” หมายความว่า ในการผ่านประชามติ ชั้นแรก ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และชั้นที่สอง ต้องมีผู้โหวตเห็นชอบเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ก็เหมือนกับระบบเลือกตั้งที่เราคุ้นชินในการผ่านประชามติอาศัย เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ซึ่งประเทศที่ใช้หลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนใหญ่เป็นสหพันธรัฐ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย เพื่อรักษาสิทธิของรัฐที่มีประชากรน้อย แต่กรณีไทยเป็นรัฐเดี่ยว

โดยล่าสุด “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีการส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรแล้วหรือไม่ ต้องรอวันเดียวกันนี้จึงจะทราบ ทั้งนี้ ไม่อยากคาดเดาว่าจะสามารถพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 ต.ค.นี้ได้หรือไม่ ขอดูในวันเดียวก่อน

แน่นอนว่าผลที่ตามมาหลังจากนี้คือ การทำประชามติยกแรก ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 มีแนวโน้มจะไม่เกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2568 และทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จไม่ทันวาระของรัฐบาล “แพทองธาร” ที่เหลืออยู่อีก 2 ปี 8 เดือน ท้ายสุดบาปเคราะห์ทางการเมืองก็ตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล หลังกำหนดนโยบายเร่งด่วนเป็นสัญญาประชาคมเอาไว้ แต่ทำไม่ได้ ล้มละลายทางความเชื่อถือซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ท่าทีสภาสูง “สว.ฮั้วตั้ง“ ชักแถวโหวตหักลำสภา รื้อร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ล็อกประตูเหล็ก 3-4 ชั้น ในการรื้อค่ายกล “ซือแป๋มีชัย” ดังนั้นแม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องถอยออก และยังเหลือร่างของพรรคประชาชนของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่คาไว้ในสภา แต่อารมณ์สังคมเวลานี้ไม่เอาด้วยแล้ว เพราะปากท้องถือเป็นเรื่องสำคัญ นาทีนี้หากรีบดันทุรังถือว่า “พลาดอย่างแรง” ที่คิดแต่ทำตามอารมณ์ไม่สนใจความรู้สึกชาวบ้าน มีแต่ภาพลบ.