มองย้อนเวลากลับไปยังพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี สถานที่ที่ตั้งของ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พบว่าจากอดีตสู่กาลปัจจุบัน แต่ละแห่งหนนั้นมีระบบการจัดการนํ้า แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมภาคสนาม นำโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล รับหน้าที่เป็นไกด์พาทีมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 17 ประเทศ มาศึกษาข้อมูลด้านนํ้าบาดาลควบคู่ท่องเที่ยวจากสถานที่จริง

ตามเส้นทางศึกษา “นํ้าบาดาล” ครั้งนี้ ออกสตาร์ตจุดแรกที่ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เลขที่ 1 บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินบริเวณอ่างเก็บนํ้าหนองเสือ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 250 ไร่ โดยมีแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่ในการจัดทำโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร

ดร.เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการ สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพนํ้าบาดาล พาเยี่ยมชมโครงการ พร้อมบรรยายถึงข้อมูลการใช้นํ้าบาดาล ซึ่งพื้นที่นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมาก สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย และเป็นดินลูกรังที่มีความแข็ง ประกอบกับพื้นที่นี้มีปริมาณนํ้าฝนน้อย กรมทรัพยากรนํ้าบาดาลจึงได้เข้ามาสำรวจ ประเมินศักยภาพ นำไปสู่การพัฒนาขุดเจาะนํ้าบาดาลเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด 11 บ่อ ปัจจุบันสามารถผลิตนํ้าบาดาลได้ 550-600 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้นํ้าในโครงการอยู่ที่ประมาณ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการได้นำเอาส่วนของนํ้าผิวดินมาใช้สอยเป็นประการหลัก เนื่องจากการใช้นํ้าผิวดินจะไม่สิ้นเปลืองพลังงานเท่านํ้าบาดาล โดยนำมาจากบริเวณอ่างเก็บนํ้าในโครงการมาใช้สำหรับการเกษตร ส่วนนํ้าบาดาลจะนำมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งการเตรียม นํ้าบาดาล มาเป็นนํ้าสำรอง ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านการใช้นํ้า

ภายในโครงการมีแหล่งนํ้าต้นทุน เช่น อ่างเก็บนํ้าหนองเสือ ระบบส่งนํ้าบ่อบาดาล เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งทางโครงการได้รวบรวมพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่ในท้องถิ่นของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ไว้หลายชนิด อาทิ มันเทศ มะพร้าว ชมพู่ สับปะรด และผักสวนครัวต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำเกษตรแบบบูรณาการ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ให้กับประชาชนผู้สนใจวิถีเกษตรผสมผสาน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำพืชชนิดใหม่ ๆ มาปลูกในพื้นที่ด้วย โดยมีแปลงสาธิตที่มีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาปรับใช้ให้เหมาะสมเป็นตัวอย่างที่สัมผัสและเห็นได้จริง

นอกจากเรื่องนํ้าแล้วยังมีเรื่องของพลังงานทดแทนที่นำมาใช้และเห็นผลได้จริงจากบิลคืนค่าไฟจากการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นกังหันลม ผลงานของศูนย์วิจัยพลังงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ไม่เพียงเป็นผลงานของคนไทยแต่ยังใช้ชิ้นส่วนประกอบจากวัสดุภายในประเทศกว่า 80% แผงโซลาร์เซลล์บนบกที่อยู่ใกล้กัน รวมถึงโซลาร์เซลล์แบบทุ่นลอยนํ้าที่อยู่ในสระนํ้ากลางไร่ที่ถือเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุด

การเข้าชมไม่ว่าจะอยากไปยลสวนมะนาว ไร่มันเทศ เพื่อเช็กอินให้สมกับที่มาชั่งหัวมัน หรือแวะทักทายฝูงโคนมก่อนจะไปลิ้มลองเมนูห้ามพลาดอย่าง “ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ” ที่มาจากนํ้านมของแม่โคในโครงการที่แสนนุ่มละมุนเข้ากัน
ได้ดีกับโคนวาฟเฟิลกรุบกรอบ จะออกแรงเองด้วยการขี่จักรยานชมทัศนีภาพไปด้วย หรือนั่งรถรางไฟฟ้าที่มีให้บริการฟรีทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. โครงการชั่งหัวมันฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันแบบไม่หยุดแม้วันนักขัตฤกษ์โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด พระราชดำรัสตอนหนึ่งเมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2526 ทรงพบเห็นสภาพปัญหาจากการบุกรุกแผ้วถางป่าและได้ประกอบอาชีพตามยถากรรม ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปีป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกทำลายลง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและลดน้อยลง จนเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษา เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด
ซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ทำให้คุณภาพของดินตกตํ่าลงไปอีก

พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ที่ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อพัฒนาด้านป่าไม้ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิม มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ โดยได้ประโยชน์และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป ผู้ที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งนํ้า ศึกษาวิธีและหาระบบป้องกันไฟไหม้ป่า ซึ่งผลของโครงการนี้สามารถพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

วาสนา สาทถาพร ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรนํ้าบาดาล กล่าวว่า พื้นที่ห้วยทรายมีการขุดเจาะนํ้าบาดาลขึ้นมาใช้สนับสนุนโครงการจำนวน 8 จุด ประมาณ 500 บ่อ มีทั้งส่วนที่ประชาชนเจาะเอง และส่วนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนในการเจาะ ซึ่งจะกระจายนํ้าเข้าสู่พื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม นํ้าบาดาลที่ได้ถือว่าเป็นนํ้าคุณภาพดี เหมาะสมในการอุปโภคบริโภค ผลิตนํ้าบาดาลได้ประมาณ 20-200 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่จำนวน 8 ชุมชน

ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชวังฤดูร้อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2467 ณ ต.ห้วยทรายเหนือ (ปัจจุบันคือ ตำบลชะอำ) อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี การออกแบบเน้นความโปร่งโล่ง สมกับเป็นที่ประทับตากอากาศที่เข้ากับสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศชายทะเล โดยแบ่งเป็นหมู่พระที่นั่ง 3 องค์ ที่มีอาคารประกอบรวม 16 หลัง

ด้วยทัศนียภาพอันงดงามเคล้ากลิ่นอายท้องทะเล ทำให้การเดินชมพระราชนิเวศน์แห่งประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน และทำให้ทราบระบบการจัดการนํ้าอย่างน่าสนใจ จากข้อมูลที่จัดวางให้อ่านสบายตา พบว่าในอดีตการจ่ายนํ้าประปาบริเวณพระราชฐานที่ประทับทั้งหมด ใช้ระบบแรงโน้มถ่วง คือสูบนํ้าขึ้นไปเก็บบนหอคอนกรีตหกเหลี่ยม ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชนิเวศน์ฯ โดยลำเลียงนํ้ามาจากบ่อนํ้าจืดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นในบริเวณพระราชนิเวศน์ และที่พักของผู้ตามเสด็จ รวมทั้งสิ้น 10 บ่อ

“นํ้า” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต หาก “วัฏจักรของนํ้า” ขาดความสมดุล ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายส่งผลกระทบทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมไปถึงการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น “การบริหารจัดการนํ้า” จึงมีความสำคัญในการแก้ไขวิกฤติการณ์นํ้าอย่างสมดุลและยั่งยืน.