ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางชนิษา วิมลวัฒนา นายกเทศมนตรีเมืองสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ได้มอบหมายให้ นางวัชร์ศมนฑน์ ปภาชยาธนันต์ รองนายกเทศมนตรีฯ นายบรรประชา อมรไตรภพ ที่ปรึกษานายกฯ น.ส.สุทธิดา เอี่ยมสำอาง ผู้อำนวยการกองการศึกษา นำคณะผู้บริหาร ประธานชุมชน 19 ชุมชน นางบังอร อาจวิชัย รองผู้อำนวยการ รักษาการ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองสองพี่น้อง นายอัครวัฒน์ อัครธรรมฤทธิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาล 6 (ร่วมพัฒนาคณูปถัมภ์) นำคณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมจัดกิจกรรมโครงการอบรมหนูน้อยฟันดี หนูน้อยปลอดเหา โดยมี นางเนาวรัตน์ วิสัยชนม์ พยาบาลวิชาชีพ รักษาการ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นางสุทิชชา แสงหมี พยาบาลวิชาชีพ นางโฉมศรี เสาวนนท์ นักวิชาการสุขาภิบาล เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ครูประจำชั้น ครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครอง และนักเรียนทุกห้องเรียน ตามโครงการอบรมหนูน้อยฟันดี หนูน้อยปลอดเหา

นางชนิษา กล่าวว่า  เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ให้ความสำคัญ และใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันเด็ก จึงได้จัดโครงการอบรมหนูน้อยฟันดี เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับด้านสุขภาพทางช่องปาก ให้สะอาด อย่างถูกสุขนิสัย เพื่อป้องกันฟันผุ และปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพทางช่องปาก และฟัน เพื่อมอบเคล็ดลับง่ายๆ เป็นความรู้กับนักเรียน และผู้ปกครองในเรื่องการแปรงฟันให้ถูกวิธี การดูแลรักษาสุขภาพของเหงือก และฟันให้แข็งแรงอีกด้วย เนื่องจากการดูแลความสะอาดของช่องปาก และฟัน รวมถึงร่างกาย และหนังศีรษะในเด็กวัยปฐมวัย ถือว่าเป็นที่สิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะอาดบริเวณศีรษะ และโรคที่เกิดขึ้นกับหนังศีรษะที่พบบ่อยมากในกลุ่มเด็กปฐมวัย จนถึงนักเรียนปฐมศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่ติดเหา ซึ่งโรคเหานับเป็นโรคที่น่ารังเกียจ จึงมีความจำเป็นต้องทำการควบคุมไม่ให้เหาแพร่กระจาย และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเหาซ้ำดังนั้นจึงได้จัดโครงการอบรมหนูน้อยปลอดเหา ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพหนังศีรษะของเด็กที่เป็นโรคเหา จึงได้จัดทำโครงการนี้

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ปกครองในการกำจัดเหา โดยมุ่งหวังให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย และศีรษะที่จะช่วยป้องกันโรคเหา และลดการแพร่ระบาดของโรคเหาในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนเพิ่มขึ้น และเพื่อให้นักเรียนบุคลิกภาพดีขึ้น ส่งผลให้นักเรียนสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข เพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน จนสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างราบรื่น ซึ่งเป็นผลดีต่อเด็กปฐมวัย และครอบครัว รวมถึงเพิ่มโอกาสประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อรองรับการพัฒนาทางสติปัญญา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป