นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออกมังคุดไทย พบว่า ไทยครองอันดับ 1 ของโลก และส่งออกไปจีนมากกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยไปโลก โดยช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค,) ปี 67 ไทยส่งออกแล้ว 247,274.83 ตัน เพิ่มขึ้น 25.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 มูลค่า 427.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%

สำหรับตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สัดส่วน 90.83% ตามด้วย เวียดนาม สัดส่วน 5.09%, เกาหลีใต้ 1.68%, สหรัฐอเมริกา 0.51% และกัมพูชา 0.33% ขณะที่ปี 66 ไทยส่งออก  248,612.25 ตัน เพิ่มขึ้น 20.8% เมื่อเทียบกับปี 65 มูลค่า 502.24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,192.32 ล้านบาท ขยายตัว 25.6%

“ปี 66 จีนนำเข้ามังคุดทั้งหมด 730.41 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 16.2% โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 85.07% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 14.91% และมาเลเซีย 0.01% อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่านำเข้าและสัดส่วนการนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น อีกทั้งจีนยังได้อนุญาตการนำเข้าจากเวียดนาม และเมียนมาด้วย ทำให้ไทยมีคู่แข่งมากขึ้น ดังนั้นต้องรักษาคุณภาพและยกระดับการผลิต รวมทั้งกระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว”

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า จากการที่มังคุดไทยมีคู่แข่งมากขึ้นในตลาดจีน จึงต้องเดินหน้ารักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เริ่มจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เหนือกว่าเดิม ผลิตให้ได้คุณภาพส่งออก ใช้เทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น สร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นเฉพาะตัวของมังคุดไทยเพื่อดึงดูดลุกค้า อย่างมังคุดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เช่น  มังคุดในวงระนอง มังคุดเขาคีรีวง และมังคุดทิพย์พังงา

รวมถึงโปรโมตผลิตภัณฑ์มังคุดใหม่ๆ เช่น มังคุดแท่ง (มังคุดเสียบไม้) มังคุดกวนไร้น้ำตาล ขนมไส้มังคุด มังคุดอบกรอบไม่ทอด ไอศกรีม ขนม น้ำมังคุด หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และอาหารเสริมจากมังคุด ตลอดจนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย ตั้งแต่ร้านขายของฝาก คาเฟ่ ร้านอาหาร ไปจนถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะร้านค้าท้องถิ่นต่าง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มังคุดไทยกระจายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น