เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกรุงเทพฯ กล่าวในเวทีเสวนา “ตั้งวงคิดกับ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เพื่อแก้ปัญหาจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถบัสไฟไหม้ ถึง พ.ร.บ.เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” ว่า ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะที่ผ่านมา เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่ จ.ขอนแก่น ในปี 2564 หรือกรณีอื่นๆ ที่มีการใช้คำว่า “จะไม่เกิดขึ้นอีก” แต่สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้น ทั้งอุบัติเหตุการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 หรือประชาชนเดินตกท่อ ดังนั้นการจะสร้างบ้านเมืองให้ปลอดภัย จำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีหน่วยงานกลางมาบริหารจัดการ เพราะในปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายทำให้การแก้ปัญหาเป็นการลูบหน้าปะจมูก จึงจะต้องมีหน่วยงานกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ตามกฎหมาย และไม่มีการล่วงล้ำอำนาจรัฐบาล หรืออำนาจศาล แต่จะต้องเป็นตัวแทนประชาชน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และความเป็นกลาง ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมา จะต้องมีการถอดบทเรียน แก้ไขข้อผิดพลาดอย่างถูกต้อง แม่นยำ และตรงจุด

นายสุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ขอเสนอไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ให้ร่วมกันสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือเสนอร่างกฎหมายคู่ขนานให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีองค์กร และมีหลายหน่วยงานอยู่แล้ว ก็เหมือนปลั๊กไฟภายในบ้านที่มีเต็มไปหมด แต่ไม่มีเซฟทีคัทตัดไฟ ทั้งนี้มั่นใจว่าองค์กรตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีความกระชับ เป็นมืออาชีพ และใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญตามความจำเป็น โดยองค์กรกลางเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้ล้อมาจากต่างประเทศ เช่น องค์กรของเกาหลีใต้ ที่มีองค์กรความปลอดภัยเพื่อสาธารณะ ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปจัดการกับเรือทัศนศึกษาของนักเรียนล่ม หรือเหตุเรือเซวอน ซึ่งองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ได้เข้าไปในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น เพื่อถอดบทเรียน และชี้มูลความผิดจากเหตุการณ์บรรทุกน้ำหนักเกิน และมีการต่อเติมเรือ จนนำไปสู่การเอาผิดกัปตันเรือ วิศวกรผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ และยามชายฝั่ง รวมถึงยังตีแผ่ว่า ประธานาธิบดีมาบัญชาการสถานการณ์ล่าช้าด้วย ก่อนที่จะมีการยกระดับองค์กรเป็นกระทรวงหนึ่งในเกาหลีใต้

“กระดุมเม็ดสำคัญขององค์กรนี้ คือการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยสาธารณะ และการเข้าไปช่วยให้คำแนะนำการกู้ภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยการกู้ภัยในอดีตจนมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูงไปยังอาคารเพลิงไหม้ อาจทำให้โครงสร้างถล่มลงมาได้ หรือการฉีดน้ำเข้าไปในโรงงานสารเคมี แต่เชื้อเพลิงที่ติดไฟนั้น สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ จนเกิดเหตุระเบิด ดังนั้นเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ก็จะช่วยลดการสูญเสียได้ รวมถึงการถอดบทเรียนที่มีมาตรฐาน และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรถโดยสารยานพาหนะนั้น ส่วนหนึ่งยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้ประกอบการเป็นรายย่อย มีจำนวนรถไม่มาก ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ถือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุน โดยหันไปใช้แก๊ส เมื่อต้องประหยัด ก็ต้องติดหลายถัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนต่อใบอนุญาตด้วย หากรถเก่า หรือเป็นการนำรถไปใช้ในการทัศนศึกษาของนักเรียน จำเป็นจะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพ หรือจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจประเมินรถก่อนใช้งาน เพราะบางเรื่องครูอาจไม่มีความรู้ เช่น ระบบรถ ระบบล้อ เป็นต้น

“ตัวอย่างอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับคนไทย ที่ไปท่องเที่ยวในมาเลเซีย เมื่อ 14 ปีก่อน ที่รถบัส 2 ชั้นพลิกคว่ำ และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งก็มีหน่วยงานกลางของมาเลเซีย วิเคราะห์และออกข้อกำหนดให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมของเขาในการกำหนดมาตรฐานรถ 2 ชั้น และข้อกำหนดที่รถบัส 2 ชั้น ห้ามสัญจรผ่าน ซึ่งผลของการมีข้อกำหนดของหน่วยงานกลางดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ดังนั้นการมีหน่วยงานกลางที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นกลางและอิสระ ก็จะช่วยทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง และป้องกันปัญหาได้” นายธนพงศ์ กล่าว

ด้านนายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ อดีตนายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นอิสระในการถอดบทเรียน เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว เพราะการสูญเสียแต่ละครั้งมีมูลค่ามหาศาล ทำให้เกิดความเสียหายด้านความเชื่อมั่นจากต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยว หรือความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการรถโดยสารเอง จึงต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัยสาธารณะอย่างจริงจัง โดยจะต้องดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับบุคลากร ในการสาธิตขั้นตอนความปลอดภัย และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ต้องครบถ้วน และมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระใช้หลักวิชาการอย่างจริงจังในการขับเคลื่อน รวมถึงรถจะต้องมีสภาพดี ปลอดภัย เพราะรถโดยสารส่วนใหญ่เป็นรถแฟชั่น ที่ใช้วัตถุไวต่อการติดไฟทั้งหมด ทั้งผ้าม่าน หรือเบาะรองนั่ง ซึ่งไม่สามารถประมาทได้แม้จะเล็กน้อย เพราะสามารถทำให้เกิดหายนะได้ทั้งหมด