เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีหลายพรรคการเมืองมีแนวโน้มว่าจะถอยการแก้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ว่า หลายพรรคการเมืองเคยมีนโยบายที่บอกกับประชาชนว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ก็มีนโยบายซึ่งมีผลผูกพัน อย่างไรก็ต้องทำ แต่ตอนนี้คือมีการแฉลบซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีน้ำหนักตามสมควร โดยตอนที่จัดทำกฎหมายประชามติมีข้อเสนอ ข้อสังเกต และข้อคิดเห็นมาจากกระทรวงมหาดไทยที่ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่ผูกพันประชาชน ควรจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีการเสนอเข้ามานั้น เขาใช้เสียงชั้นครึ่งคือเขาต้องออกมาใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ แต่ที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์ก่อนนั้น เรามาขอเขาให้ลดระดับลง เขาก็ยอมลดระดับลงมาเหลือ 1 ใน 4 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งเราก็เอาตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

เมื่อถามถึง กรณีที่วุฒิสภามีมติให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติ นายนิกร กล่าวว่า การพิจารณาของ กมธ.วุฒิสภา ก็มีการแฉลบมาเยอะในขณะที่มีการพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งการแก้ไขตามมาตรานั้นเป็นเหตุอ้างได้ในชั้นของวุฒิสภา จึงทำให้วุฒิสภาไหลไปทางนั้น แต่ถามว่าขณะนี้สิ้นหวังหรือยัง ก็ยัง เรายังมีโอกาสอยู่คือสามารถประเมินกันได้เลยว่าหากแก้มาในหลักการเช่นนี้ ต้องกลับมาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำมายืนยัน ซึ่งตนเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแน่นอน เพราะเป็นหลักการใหญ่ ซึ่งหากไม่เห็นด้วยก็จะต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วมกัน

นายนิกร กล่าวต่อว่า วันที่ 9 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาเรื่องนี้เพื่อยืนยัน ซึ่งจะต้องยืนยันอยู่แล้วไม่เช่นนั้นหน้าตาของสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่ตรงไหน ถูกบีบมาเช่นนี้ โดยจะต้องมีการเสนอชื่อคนที่จะไปเป็นกมธ. 10 คน หลังจากนั้นก็จะต้องกลับเข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็น กมธ.อีก 10 คน ส่วนวันที่ 16-23 ต.ค. กมธ.ร่วมต้องตกลงกันให้ได้ โดยภายในวันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาจะต้องยืนยันและเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของกมธ.ร่วม ซึ่งหากทั้ง 2 สภาฯ เห็นด้วยวันที่ 30 ต.ค. ก็จะมีผลและวันที่ 31 ต.ค. สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ในวันที่ 2 ก.พ.68  ที่จะมีการเลือกนายก อบจ. ก็ยังทันอยู่ เพราะตอนแรกยังกังวล เนื่องจากเกรงว่าวุฒิสภาจะดึง

เมื่อถามว่า ยังมีหวังที่จะทำประชามติรอบแรกทันการเลือกนายก อบจ.ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ตนกังวลว่าจะเลยเถิด เพราะอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรสามารถที่จะข้ามวุฒิสภาไปได้เลย  คือแค่ยืนยันแล้วรอ 6 เดือนที่จะกลับไปใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้นในการทำประชามติ ซึ่ง ครม. สามารถกำหนดเองได้ ทั้งนี้ หากผ่านการพิจารณาของสภาฯ แล้วต้องกลับเข้ามาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ยกร่างแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งหากถึงขั้นที่ข้ามวุฒิสภาไปแล้ว ก็จะเกิดปัญหาว่าเขาจะให้ 72 เสียงกับเราหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตราหรือทั้งฉบับ เราก็จะไม่ได้รับเสียงจาก สว.เลย ตนยังห่วงตรงนี้อยู่ และมองว่าเรายังควรมีวุฒิสภาอยู่ แต่ไม่ควรที่จะมีปัญหากันเดี๋ยวจะลุกลาม เพราะกฎหายทุกฉบับต้องผ่านระบบนี้อยู่ 

เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย เขามองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแล้ว นายนิกร กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะมาดึงตรงนี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเร่งด่วนแต่เป็นเรื่องของกฎหมายฉบับหนึ่งที่ควรจะเป็นอย่างไร และเราก็ไม่สามารถจะไปพูดได้ว่าภูมิใจไทยเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างมีนัยยะสำคัญ เราอาจจะมองได้แต่พูดไม่ได้  เรื่องนี้อย่าไปคิดว่าใครจะได้อะไร แต่ให้คิดมุมกลับว่าใครจะเสียอะไร ซึ่งที่จะเสียแน่ๆ คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้หวังว่าจะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า “หวังเช่นนั้น และหวังมา 20 ปีแล้ว เราไม่ถอย หากมันจบ เราก็หวังต่อไปว่า 180 วัน ก็ 180 วัน เราจะสามารถดีกันได้ เราต้องมาร่วมกันทั้ง 2 สภา ต้องยอมถอยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างยืน แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีพรรคไหนหรือสภาไหนเสีย มีแต่ประชาชนเสียโอกาส“

เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร กล่าวว่า เราอยากได้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่มีการแก้ไขมาตราเหมือนนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะหากแก้ไขรายมาตราเราจะไปคิดแทนประชาชน ซึ่งเราต้องการรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สามารถแก้ไขได้บ้างไม่ใช่แก้ไขไม่ได้เลย และเราต้องการ ส.ส.ร.เพื่อต้องการลดความขัดแย้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากทหาร.