เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 67 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค อธิบายเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ว่าค่าเงินบาทแข็งวันนี้จะมีผลในการลดปริมาณส่งออกใน 3 เดือนข้างหน้า เพราะมีเวลา Lag time ในการตกลงการค้า ไม่ใช่บาทแข็งวันนี้แล้วเห็นส่งออกลดเลย มีน้อยคนที่จะเข้าใจสมการพฤติกรรมของการส่งออก

มีคนบอกว่าตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อดอลลาร์อ่อนตัว ส่งผลให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีค่าต่ำกว่า 34 บาททันที

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ได้แก่ ผู้นำเข้า สินค้าและบริการจะถูกลง, นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายต่างประเทศน้อยลง, ผู้มีหนี้ต่างประเทศ ภาระลดลง, และนักลงทุนในต่างแดนจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง

แต่ผู้เสียประโยชน์ รวมถึงผู้ส่งออกที่ยอดขายอาจลดลงเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น, ธุรกิจท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยลง และผู้ที่รับเงินจากต่างประเทศที่รายได้จะลดลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท

โดยรวมแล้ว ผลของเงินบาทแข็งค่านั้นส่งผลทั้งดีและร้าย ขึ้นอยู่กับมุมมองและการเตรียมตัวรับมือของแต่ละกลุ่ม

1.การคิดแบบข้างบน คือคิดแบบ statics แบบเฉพาะหน้าว่าใครได้อะไร ใครเสียอะไร จากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ไม่ถูกต้องนะครับ

2.เรื่องค่าเงินบาทแข็งขึ้น ควรคิดแบบ dynamics คือรายได้ส่งออกและท่องเที่ยว (ซึ่งเป็น 65% ของ GDP) จะลดลง มีผลให้รายได้ของประเทศโดยรวมลดลง จึงมาลดกำลังการผลิต (Capacity utilization) ของประเทศ ทำให้ความเจริญของประเทศ (GDP growth) ลดลง ประชาชนโดยรวมจึงยากจนลง

3.แม้สินค้านำเข้าในรูปเงินบาทจะราคาถูกลง คือรายจ่ายลดลง แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่มีความสามารถจ่าย เพราะรายได้ของพวกเขาลดลง

4.เราบริหารประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้มากๆ สินค้านำเข้าแพงขึ้นหน่อยก็มีปัญญาซื้อ เราไม่ได้บริหารประเทศเพื่อให้ของนำเข้ามีราคาถูกๆ เพราะของนำเข้าถูกลงจะมีประโยชน์อะไร เมื่อไม่มีปัญญาซื้อ เพราะรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศลดลง ครอบครัวประเทศไทยยากจนลง (เหมือนประเทศสังคมนิยมสมัยก่อนๆ เช่น จีน เมียนมา เกาหลีเหนือ)

ศ.ดร.สุชาติ อธิบายต่อไปว่า ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากประเทศแพ้สงครามและยากจนของ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน ล้วนมาจากการทำค่าเงินอ่อนทั้งสิ้น เริ่มจากจากขายของพื้นๆ ถูกๆ มีกำไรต่อหน่วยน้อยๆ แต่ขายมาก จนกำไรรวมมากมาย แล้วเอาเงินเหล่านี้ไปพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่ม Potential GDP จนวันนี้ประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่สำคัญ

ประเทศที่ทำค่าเงินแข็ง เช่น ไทย, บรูไน, จีน (ก่อนเติ้งเสี่ยวผิง) ล้วนเป็นประเทศเจริญเติบโตต่ำ ผลกระทบของดอกเบี้ยสูงในปัจจุบันทำให้ค่าเงินบาทแข็งมากเกินไป ทำให้การส่งออก, ท่องเที่ยว และ FDI ลดลง ทำให้ GDP growth rate ต่ำ

รัฐบาลจึงควรแยกเรื่องค่าเงินบาทออกมา โดยออกกฎหมายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate targeting) ดูแลโดย รมว.คลัง อันนี้จะเพิ่ม GDP growth ได้มาก แม้แบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ย ซึ่งไม่มีเหตุผล