นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หันมาใช้ในระบบหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในการผลิต เพื่อลดต้นทุน ลดการพึ่งพาแรงงาน ลดการสัมผัส หลังจากเกิดโควิด-19 โดยเฉพาะระบบหุ่นยนต์ฯ ที่พัฒนาระบบโดยผู้ประกอบการไทย ที่ขณะนี้มีการรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ระบบหุ่นยนต์ฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพของไทย คุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ ราคาถูกกว่านำเข้าถึง 1 – 2 เท่า ลงทุนเปลี่ยนระบบแล้วสามารถคืนทุกได้เร็วภายใน 1 ปี
ทั้งนี้กรมฯ จะดึงกลุ่มสถานประกอบการที่ต้องการใช้หุ่นยนต์เข้าร่วมคลัสเตอร์มากขึ้น ใช้กลไกการเงินสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งการเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราต่ำจากแหล่งเงินทั้งกองทุน และธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีดีแบงก์) จัดหาผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ และส่งเสริมแผนงานด้านการตลาดให้เป็นที่รู้จักที่มากขึ้น รวมทั้งจะผลักดันให้เข้าร่วมโครงการเมดอินไทยแลนด์(เอ็มไอที) เพื่อเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
“คลัสเตอร์หุ่นยนต์ฯ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 62 ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ รวม 22 บริษัท แม้ยังน้อยแต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีเป้าหมายร่วมกันคือการเพิ่มกำลังการผลิต การลดนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นำความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาช่วยแก้จุดอ่อน ล่าสุดมีการซื้อขายระบบเทคโนโลยีรวมถึงหุ่นยนต์ระหว่างกันคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 95 ล้านบาท หรือ 4.75 ล้านบาทต่อกิจการ จุดเด่นของคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ ราคาถูกกว่าการนำเข้า 3–5 แสนบาทต่อเครื่อง จากปกติหลักล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ผลักดันให้ใช้ระบบออโตเมชั่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”
นายสมควร จันทร์แดง กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด สมาชิกคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในคลัสเตอร์ พอใจต่อเทคโนโลยี ราคา และประสิทธิภาพการทำงาน ปัจจุบันโรงงานนำแขนกลของ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ มาใช้ในกระบวนการผลิตกระบอกไฮโดรลิก พบว่า คืนทุนในเวลาเพียง 10.4 เดือน ลดแรงงานที่ต้องทำงานซ้ำๆ ได้ 2 คน มูลค่า 252,000 บาทต่อปี ลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องจักรถึง 3 เครื่อง ผลิตชิ้นส่วนกระบอกไฮโดรลิกจาก 18,000 ชิ้น เป็น 42,000 ชิ้นต่อปี มูลค่าจากการผลิตเพิ่มขึ้น 113% จาก 130,680 บาทต่อปี เป็น 278,760 บาทต่อปี และยังลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเสื่อมสภาพได้ถึง 130,000 บาทต่อปี จากเดิม 240,000 บาท
นายพชระ แซ่โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด ผู้ผลิตแขนกลยูนิบอท และกรรมการบริหารคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดผลิตหุ่นยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์ ให้ธุรกิจเข้าถึงในราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่คุณภาพและบริการเทียบเท่า ไม่ต้องรอซื้อระบบนาน มีบริการหลังการขายที่ดี