นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า กสทช. ได้ให้ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เร่งส่งรายละเอียดแผนเยียวยาลูกค้าโทรศัพท์มือถือของเอ็นที เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม (บอร์ด) กสทช. โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันซิมดับ เนื่องจากวันที่ 3 ส.ค. 2568 คลื่นความถี่โทรคมนาคม  ที่เอ็นทีถือครอง จำนวน 4 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์  จำนวน  2×15 เมกะเฮิรตซ์, คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 91 เมกะเฮิรตซ์, คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์  จำนวน 2×15 เมกะเฮิรตซ์  และ คลื่น 2300 จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ต้องสิ้นสุดการอนุญาตใช้งาน เพื่อนำคลื่นคืนมายัง กสทช.ดำเนินการประมูลภายในไตรมาสแรกปี 2568

“ที่ผ่านมา เอ็นที ได้เสนอแผนมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ กสทช. มองว่า ยังมีรายละเอียดไม่ชัดเจน จึงขอให้ เอ็นที กลับไปทำใหม่เพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช.โดยเร็วที่สุด ให้สามารถประกาศแผนดังกล่าวเสร็จทันตามกำหนด ซึ่งไม่ควรเกิน เดือน ม.ค. 68 ที่ต้องประกาศแผนเยียวยาให้ลูกค้า ปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ประมาณ  7 แสนเลขหมาย เพื่อเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันซิมดับ หรือใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกันหาก เอ็นที มีความต้องการย้ายลูกค้าไปใช้งานคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์   ที่มีอยู่จำนวน 2×5 เมกะเฮิรตซ์  ที่จะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2579 ก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนซิมดับ”

นายสมภพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การย้ายลูกค้าที่ใช้งานคลื่นเดิมไปยังคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์  เป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากอุปกรณ์ไม่รองรับ ซึ่งเรื่องนี้ ทาง เอ็มวีเอ็นโอ (MVNO) หรือผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือนที่นำความถี่ของ เอ็นที ไปทำตลาดเฉพาะกลุ่มกว่า 7-8 บริษัท เริ่มมีการสะท้อนปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นมายัง กสทช.แล้ว และการเตรียมระบบหลังบ้านรองรับก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จึงเป็นเรื่องที่เอ็นทีต้องเร่งดำเนินการ

สำหรับในส่วนของการนำคลื่นที่สิ้นสุดใบอนุญาตดังกล่าวมาประมูล จากการพูดคุยกับเอกชนพบว่า มีความสนใจคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์   และ 2300 เมกะเฮิรตซ์   เพื่อใช้งานต่อเนื่อง เพราะเอกชนทั้ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ เอ็นที ในการทำสัญญาเพื่อสร้างสถานีฐาน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ลงทุนไปหมดแล้ว ใช้งานเพียง 3-5 ปี เท่านั้น จึงต้องการคลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง