สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่ากฎหมายฉบับใหม่ซึ่งประกาศครั้งแรก เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ห้ามการนำเข้า, ผลิต, จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติก ซึ่งปกติแล้วมักถูกทิ้งเป็นขยะหรือฝังกลบในหลุม

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนในกรุงโมกาดิชู แสดงความยินดีกับการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก พร้อมระบุว่า รัฐบาล “ควรทำมานานแล้ว”

นายอุสมาน ยูซุฟ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศแห่งนี้พึ่งพาถุงพลาสติกเป็นอย่างมาก และอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,637 ล้านบาท) “ไม่มีเหตุผลในการใช้ถุงพลาสติกที่อันตรายเหล่านี้ต่อไป” เขากล่าว

โซมาเลียเข้าร่วมกับประเทศแห่งอื่นในแอฟริกา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคนยาและแทนซาเนีย ซึ่งประกาศแบนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยเคนยาได้ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก ซึ่งมีความเข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งของโลกเมื่อปี 2563 ด้วยการกำหนดโทษปรับหรือจำคุก

ด้านโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ประเมินว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งในทะเล, แม่น้ำ และทะเลสาบทุกวัน อาจเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะ 2,000 คัน ขณะที่ในแต่ละปี มีขยะพลาสติกประมาณ 19-23 ล้านตันรั่วไหลสู่ระบบนิเวศทางน้ำ

การประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของโซมาเลียมีผลหลังการเจรจาสรุป เพื่อบรรลุสนธิสัญญาเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติกฉบับแรกของโลก ที่กรุงไนโรบี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองต่อภัยคุมคามจากขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่มหาสมุทร, แม่น้ำ, ภูเขา และน้ำแข็งในทะเล ตลอดจนห่วงโซ่อาหารเนื่องจากสัตว์กินขยะพลาสติก

ทั้งนี้ นานาประเทศยังคงเผชิญกับแรงกดดัน ในการหาจุดยืนร่วมกัน ก่อนการเจรจารอบสุดท้าย ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนธ.ค. นี้.

เครดิตภาพ : AFP