นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567  และมีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 125,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 4,832 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.01) ประกอบด้วย งบประมาณของส่วนราชการ จำนวน 122,627 ล้านบาท งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 270 ล้านบาท และกองทุนจำนวน 2,461 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวน 125,358 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินหน้าสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสภาคการเกษตร ดังนี้

1. สร้างรายได้ วงเงิน 82,850 ล้านบาท ด้วยการเร่งให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน โดยดำเนินการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนการผลิตพืชที่เหมาะสมตามแผนที่ Agri – Map การส่งเสริมการผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดี สัตว์น้ำพันธุ์ดี ปศุสัตว์พันธุ์ดี การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในสถาบันเกษตรกร การส่งเสริมตลาดเกษตรกรเป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้ครอบคลุม 77 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ โดยจะมีการประชุมเจรจาเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

2. ลดรายจ่าย วงเงิน 1,132 ล้านบาท ด้วยการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพหลังการพักชำระหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้ค้าง (NPL) มีการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ

3. ขยายโอกาส วงเงิน 17,076 ล้านบาท ด้วยการถ่ายทอดความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การถ่ายทอดความรู้ในการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร วางแผนรับมือ ป้องกัน และลดผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ การนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและความสมดุลการจัดการทรัพยากรที่ดิน (LDN) รวมทั้งการพัฒนาการให้บริการประชาชน ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ด้านเพาะปลูก ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และจัดทำสารสนเทศการเกษตร

นอกจากนี้ ภายใต้งบประมาณดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นขับเคลื่อนและยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมสานต่อ 9 นโยบายพัฒนาภาคการเกษตรของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการ 2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร 3. บริหารจัดการน้ำ 4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง

5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7. รับมือกับภัยธรรมชาติ 8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน และ 9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร ทั้งนี้ คาดว่า ด้วยการขับเคลื่อนงบประมาณตามแผนการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน