นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ดำเนินการตามมาตรการ 7 มาตรการสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ฯลฯ ทำให้สถานการณ์การระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยวิกฤตเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และขณะนี้มีข้อกังวลว่าอาจมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางราย ทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเพื่อการจำหน่าย        

 กรมประมงจึงได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้น ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างรุนแรง ดังนี้ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้ตรวจราชการกรมประมงเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ ฯ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเร่งรัดให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีปลาหมอคางดำอยู่ในบ่อ เร่งกำจัดออกจากบ่อ รวมถึงตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำหรือมีเหตุให้สงสัยว่ามีการจำหน่ายปลาหมอคางดำให้กับโครงการของราชการ แบบมีการวนจำหน่ายซ้ำ และหากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมาย ก็จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีทันที

โดยในวันที่ 27 กันยายน 2567 นายสมบุญ ธัญญาผล ผู้ตรวจราชการกรมประมง พร้อมด้วยนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นำทีมชุดเฉพาะกิจฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการกรมประมง ยังได้ลงพื้นที่บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรหมู่ที่ 8 ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จำนวนบ่อเลี้ยง 2 บ่อ พื้นที่เลี้ยง 400 ไร่ จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ นำชุดเฉพาะกิจฯ ลงพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่จำหน่ายปลาหมอคางดำให้กับโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ งบ กยท. 3 ราย ปริมาณปลาหมอคางดำที่จำหน่าย 2,799 กิโลกรัม ขนาดบ่อเลี้ยงแต่ละราย ประมาณ 50 – 80 ไร่ ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าบ่อเลี้ยงของเกษตรกรเป็นแบบเลี้ยงแบบธรรมชาติและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเสริม ได้มีการเติมน้ำเข้าบ่อเพื่อเพาะเลี้ยงในรอบใหม่แล้ว ไม่พบเจตนาเพื่อเลี้ยงปลาหมอคางดำแต่อย่างใด และยังมอบหมายให้ นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นำชุดเฉพาะกิจฯ ลงพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เกษตรกร 1 ราย ปริมาณปลาหมอคางดำที่จำหน่าย 1,264 กิโลกรัม ขนาดบ่อเลี้ยง 96 ไร่ พบว่าบ่อเลี้ยงของเกษตรกรเป็นแบบเลี้ยงแบบธรรมชาติและปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 1,000 ตัว ปูทะเล 250 กิโลกรัม   และปลานวลจันทร์ทะเล 2,000 ตัว การเลี้ยงได้มีการเติมน้ำเข้าบ่อเพื่อเพาะเลี้ยงในรอบใหม่แล้ว ไม่พบเจตนาเพื่อเลี้ยงปลาหมอคางดำเพื่อเวียนมาจำหน่ายใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ชุดเฉพาะกิจได้ให้ข้อเสนอแนะแก่เกษตรกร และขอบคุณที่ดำเนินการตามมาตรการและขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปตามที่กรมประมงกำหนด และขอให้นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ทราบและปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

“จากสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ และนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ถึงสถานการณ์จะเริ่มบรรเทาลง แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่กรมประมงจะต้องดำเนินการตามมาตรการทั้ง 7 มาตรการต่อไปอย่างเข้มข้น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ           และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้หมดไป และยังมีภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติให้กลับมา               สู่ภาวะปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย                ทั้งการเพาะเลี้ยงหรือการขนย้ายปลาหมอคางดำที่ผิดต่อประกาศของกรมประมง สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่   เพื่อหยุดการกระทำที่จะส่งผลให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งอย่างทันท่วงที ”