นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช. เสนอ กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 46 แห่ง ประจำปีงบประมาณ 68 โดยมีวงเงินดำเนินการ 1.512 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.641 แสนล้านบาท ทั้งนี้ครม. ยังเห็นชอบให้ประธานสศช. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสหกิจประจำปี 68 ที่ได้รับความเห็นชอบได้ด้วย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยกำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน 

ทั้งนี้งบลงทุนและวิสาหกิจ 2.641 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการที่ได้รับอนุมัติตามขั้นตอน 2.141 แสนล้านบาท และกรอบลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปี 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือจำนวน 5 แห่งหรือรวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 51 แห่งแล้วจะทำให้ภาพรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 68 มีวงเงินทั้งสิ้น 4.655 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ ครม. รับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 46 แห่งในช่วง3 ปีข้างหน้าเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายลงทุนรวม 1.058 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 3.529 แสนล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิ 2.724 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 90,808 ล้านบาท ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุนให้พิจารณาทบทวนความเหมาะสมจำเป็นของการลงทุนคงค้างโดยเฉพาะแผนระยะยาวจะได้โครงการที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว และยังไม่ดำเนินการ  รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกระทรวงเจ้าสังกัดควรพิจารณาจัดตั้ง บริษัทลูกหรือบริษัทในเครืออย่างบูรณาการกันในรัฐวิสาหกิจแต่ละกลุ่มเพื่อให้การลงทุนมีทิศทางที่เหมาะสมลดความซ้ำซ้อนและการแข่งขันกันเองเป็นต้น

 ส่วนข้อเสนอแนะระดับกระทรวง เช่น ให้กระทรวงพลังงานเร่งพิจารณาการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะการเชื่อมโยงบิ๊กดาต้าของการไฟฟ้าทั้ง3 แห่ง รวมทั้งเร่งขับเคลื่อนนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรงหรือไดเร็ค พีพีเอ และให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ทบทวนความเหมาะสมและความจำเป็นโครงการลงทุนที่คงค้างจำนวนมาก ตลอดจนให้คณะกรรมการบริหารกิจการขสมก.กำหนดทิศทางการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนกิจการรวมถึงสถานะทางการเงินขององค์กรอย่างรอบคอบ และให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลควบคุมค่าใช้จ่ายภายในองค์กรโดยเฉพาะด้านบุคลากร ให้การเคหะแห่งชาติเร่งรัดทำแผนบริหารทรัพย์สินรอการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และพิจารณาการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อให้มีสัดส่วนทางการเงินอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น