เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เวลา 14.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนี้ 1.การลดอัตราเงินสมทบ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือน ต.ค. 2567 ถึงงวดเดือน มี.ค. 2568 โดยอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้าง ลดจาก 5% เหลือ 3% และอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดจาก 9% เหลือ 5.9% (เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 283 บาทต่อเดือน)

นายบุญสงค์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว สามารถลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตน ได้จำนวน 7 พันกว่าล้านบาท จำแนกเป็น สมทบฝ่ายนายจ้าง ประมาณ 3,400 ล้านบาท และผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เคยจ่ายเงินสมทบ 750 บาท ต่อเดือน (คำนวณจากเงินค่าจ้าง 15,000 บาท) จะได้ลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 300 บาท เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 450 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบคนละ 1,800 บาท สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท จะได้รับการลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 149 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบ 894 บาท

โดยมาตรการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย ปัจจุบันมี 41 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สตูล สระบุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ เบื้องต้นมีผู้ประกันตนมาตรา 33 เฉลี่ย 2.55 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 560,000 คน นายจ้างเฉลี่ย 157,000 แห่ง และอาจมีการประกาศเพิ่มเติมหากมีพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่ม

2. การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ โดยสำนักงานประกันสังคมขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 งวด ก.ย.-งวด ธ.ค. 2567 ให้นายจ้างสามารถนำส่งเงินสมทบได้ภายใน 4 เดือน นับจากงวดที่ต้องนำส่ง ตามมาตรการ เช่น งวด ก.ย. 2567 สามารถนำส่งได้ภายในเดือน ม.ค 2568

“ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ พะเยา สุโขทัย และน่าน กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอาชีพ เพื่อประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในระหว่างที่ไม่มีรายได้ โดยการจ้างให้ทำงานที่เป็นงานสาธารณประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานวันละ 300 บาท ด้วยซึ่งผมในฐานะปลัดกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันนโยบายให้พี่น้องแรงงานได้รับการคุ้มครองและการสนับสนุนที่เป็นธรรม และขอให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมแรงงานที่เข้มแข็งและมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าว