เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 18.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองรับ นางรูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัท Alphabet และ Google ประกาศการลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นางรูธ กล่าวว่า Google พร้อมลงทุนด้าน AI ในไทย จำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาทในไทยเพื่อตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และ Cloud Region ในประเทศไทย คาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568 – 2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทภายในปี 2572

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอบคุณบริษัท Google  ที่ไว้วางใจในศักยภาพของไทยในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ Google และเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับบริษัทให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในระยะยาว และดำเนินการหาแนวทางเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างกันมีความคืบหน้าและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นที่การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและการบริการของภาครัฐแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเทคโนโลยี AI ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้มีการให้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับแนวทางของ Google รวมถึงสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้รัฐบาลไทยให้ความมั่นใจแก่บริษัทถึงความต่อเนื่องด้านนโยบายและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อเดือนพ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้เกิดการลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูระหว่างบริษัท Google กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยการให้ความสำคัญกับระบบคลาวด์ ถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและทำให้เกิดงานในวันนี้ขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของไทย โดยรัฐบาลมุ่งเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตนเอง ประสิทธิภาพการทำงาน และนวัตกรรม จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมและสร้างโอกาสที่มากขึ้นสำหรับทุกคน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงศักยภาพของไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ยืดหยุ่นและระบบสาธารณูปโภคที่มีเสถียรภาพ ควบคู่กับมีการรักษาความเป็นกลางทางเทคโนโลยี  รวมถึงความต้องการด้านดิจิทัลของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมและมีประชากรที่ใช้งานดิจิทัลจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงการริเริ่มด้านพลังงานสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางดิจิทัลที่เจริญรุ่งเรือง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อสร้างกลไกด้านพลังงานสะอาด อาทิ การทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) และการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยอีกหนึ่งโครงการริเริ่มที่สำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เพื่อยกระดับการบริการดิจิทัลของรัฐบาล การกำกับดูแลข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัล

“รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางที่รุ่งเรืองของกูเกิ้ลพื่อส่งเสริมการเติบโตของคนไทยและธุรกิจทั้งในประเทศและภายในภูมิภาคอาเซียน” นายกฯ กล่าว