หลังจากที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้นำเสนอข่าว กรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่กว่า 2,000 คน ต้องหยุดเรียนกลางคัน มาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ตนมองว่า ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1.เรื่องของกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ล่าสุด ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวน ข้อที่ 22 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ต่อประเทศไทย ก่อนหน้าที่ทางเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีการประกาศสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะ เพียงไม่กี่วัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 35 โดยขณะนั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้ที่ไม่พร้อมจะปฏิบัติตาม จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ซึ่งต่อมาในวันที่ 11 เม.ย. 40 ประเทศไทยได้แจ้งต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการถอนข้อสงวนข้อที่ 29 ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. 53 ประเทศไทยได้แจ้งการถอนข้อสงวนข้อที่ 7 และล่าสุดในวันที่ 30 ส.ค. 67 ประเทศไทยได้แจ้งการถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่มีการตั้งข้อสงวนไว้

“ข้อสงวนข้อที่ 22” นั้น ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง ซึ่งตรงกับประเด็นที่มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ จ.สุราษธานี เพราะ เด็กเหล่านี้ จัดได้ว่าเป็นเด็กของกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่มาใช้แรงงานในประเทศไทย ไม่สามารถกลับไปยังประเทศต้นทางได้ รัฐไทยจึงจำเป็นต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ซึ่งเรื่องของการศึกษา ก็ เป็นเรื่องหนึ่งใน หลักสิทธิมนุษยชน

โดยที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาร์ มีการสู้รบกันรุนแรงมากขึ้น ในอดีตพบว่ามีการสู้รบกันเป็นระยะไม่ต่อเนื่อง ทำให้ ผู้ลี้ภัยสามารถกลับไปยังประเทศของตนเองได้ เมื่อมีเหตุการการสู้รบ ก็หลบหนีมายังประเทศไทย เป็นลักษณะ หลบภัยมาแบบชั่วคราว แต่ในปัจจุบัน กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ไม่สามารถกลับไปยังประเทศของตนเองได้ เพราะมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย มีการเปิดค่ายผู้ลี้ภัย อยู่ทั้งหมด 9 ศูนย์ ในบริเวนพื้นที่ ใกล้ชายแดน ตั้งแต่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงมา จนถึง จังหวัดราชบุรี แต่ในปัจจุบันไม่มีการเปิดรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม ทั้งที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายนอกค่ายผู้ลี้ภัย และผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งอาจมีญาติเข้ามาใช้แรงงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ทำให้กลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ มุ่งไปหาญาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย บางรายมาแบบครอบครัว หรือมามีครอบครัวในประเทศไทย มีบุตรติดตามมา หรือ มีบุตรที่เกิดในประเทศไทย ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันในกลุ่มแรงงาน แต่กลุ่มบุคคลเหล่านนี้ ไม่ได้ มาในรูปแบบแรงงานแต่มาในฐานะผู้ลี้ภัย เมื่อประเทศไทย มีการถอนข้อสงวน ข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดูแลลูกผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

ตนมองว่า กลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มนี้ จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่ง มีกฏหมาย กฏระเบียบรองรับอยู่แล้ว และมีวิธีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ พบว่า ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย โรงเรียนบางโรงเรียนไม่รับเด็กกลุ่มเหล่านี้ ทำให้เด็ก กลุ่มเหล่านี้บางส่วน ที่เคยได้รับการศึกษาจากประเทศของตนเองมาก่อน ไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ญาติพี่น้อง หรือ คนที่เกี่ยวข้อง อยากจะจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ที่เป็นกลุ่มลูกหลานของตน จนทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ ขึ้นมา.