เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเนื้อหาจากร่างสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นคือ ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงลงคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิในเรื่องที่จัดทำประชามติ แตกต่างจากร่างเดิมที่ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเท่านั้น

ทั้งนี้ กมธ.เสียงข้างน้อย และ สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ต่างอภิปรายคัดค้านแนวทางเสียงข้างมาก 2 ชั้น มองว่า เป็นหลักเกณฑ์ทำให้การทำประชามติผ่านยากขึ้น อาจมีผลทำให้การทำประชามติการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ทันวันที่ 2 ก.พ. 68 ที่จะมีการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ

โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า มติ กมธ.เสียงข้างมาก ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติ เชื่อว่ามีใบสั่ง อย่าความจำสั้น เพราะก่อนหน้านี้มติ กมธ. ยังให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แต่มากลับลำในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 เพราะมีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก เกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคให้ประชามติผ่านยาก ควรใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว หาก สว. ลงมติเห็นชอบกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า สภาจะยืนยันตามร่างเดิมของตัวเองที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว สิ่งที่ตามมาจะต้องตั้ง กมธ.ร่วม ฝ่ายละ 10คน หากตกลงไม่ได้  ร่างดังกล่าวจะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎร จึงสามารถยืนยันใช้ร่างฉบับของตัวเองได้ จะส่งผลกระทบให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ใครจะรับผิดชอบที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งตนขอเสนอทางออกคือ ถ้า สว. ส่งร่างคืนมาให้สภาผู้แทนราษฎร จะมีการตั้ง กมธ. ร่วมในวันที่ 9 ต.ค. นี้ ระหว่างนั้นมีเวลาวันที่ 16-23 ต.ค. ที่ กมธ.ร่วมจะหาทางออกร่วมกัน จากนั้นวันที่ 24 ต.ค. ทาง กมธ.ร่วมจะส่งร่างให้สภาผู้แทนผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณา ซึ่งวันที่ 28 ต.ค. นี้ สว. จะประชุมพิจารณา และวันที่ 30 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ก็ทำประชามติทันวันที่ 2 ก.พ. 2568

ขณะที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาวงศ์ สว. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว การอ้างว่า เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะทำให้การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญผ่านได้ยากนั้น ขอให้ดูการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ทั้ง 2 ฉบับ พบว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ และคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ ต่างผ่านหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น อย่าอ้างทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มีแต่แก้จริยธรรมนักการเมือง ไม่มีประเด็นแก้เพื่อประชาชน

นายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น มีความชอบธรรม ความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายก อบจ. ไม่ชอบมาพากล ขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. แล้ว ร้อยละ 70-80 หาก สว. ให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือนักการเมือง คนแก่ที่จะไปเลือก ต้องปรึกษาหัวคะแนน ใบแรกเลือก นายก อบจ. ใบที่สองเรื่องประชามติ ก็ต้องถามหัวคะแนน จึงเป็นเรื่องแอบแฝง จัดตั้งมีระบบอุปถัมภ์ จะได้รัฐธรรมนูญไม่มีคุณภาพ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หลงเกมนักการเมือง

ภายหลังจากที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 167 ต่อ 19 งดออกเสียง 7 ส่งร่างให้สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะยืนยันเนื้อหาตามที่ สว. แก้ไขหรือไม่ ถ้าไม่ยินยอมจะต้องตั้ง กมธ.ร่วม สส. และ สว. มาพิจารณาต่อไป.