เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่ทวงถามถึงความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … ว่า ตนขอขอบคุณมากที่สะท้อนปัญหาของข้าราชการได้ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขมีข้าราชการมากและภาระงานมาก คนส่วนใหญ่ทำงานได้ เป็นคนเก่งและบ่นน้อยที่สุด แต่ค่าตอบแทนกลับไม่สมดุลกับงาน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีประมาณ 1 ล้านคน เราใช้งานเขามากมายตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ทุกวันนี้คนเข้ามารักษาแต่ไม่มีการป้องกัน ตนจึงกำชับในส่วนนี้ว่าหากป้องกัน หยุดโรคได้จะประหยัดงบประมาณและบุคลากร

“ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่งเดือน พ.ค.67 ได้ดำเนินการติดตามต่อเนื่อง โดยเดือนมิ.ย. ได้ดำเนินการ สรุปเรื่อง และขั้นตอนที่ 2 เดือน ก.ค. มีการประชุมร่างกฎหมายและรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข 15 วัน และขั้นตอนที่ 3 สรุปประเด็น เผยแพร่ วิเคราะห์ผลกระทบและรายงานไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ผมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีติดต่อกัน มีการปรับ ครม.อยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงที่ไปถึง ครม.แล้ว ผมต้องยืนยันร่างใหม่ หลังจากนี้ผมมั่นใจว่า ครม.ไม่มีปัญหา เพราะแผนงานจะเป็นตามขั้นตอนนั้น ทั้งในชั้นกฤษฎีกาและสภา” นายสมศักดิ์ กล่าว

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขกฎหมายของสภาฯ ตนขอให้ใช้เวลาอย่างประหยัด เพราะบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขรออยู่ ส่วนการทำร่างกฎหมายนั้น โดยตามขั้นตอนสามารถใช้เวลา 2 ปี แต่หากตนยังเป็น รมว.สาธารณสุข 1-2 ปี มั่นใจว่าเสร็จทันแน่ เพราะติดตามตลอด  สำหรับประโยชน์ของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหากำลังคน กระจายบุคลากร ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขจัดการบุคลากรด้วยตนเอง 

“ขณะนี้พยาบาล 1 คน ทำงานหนักมากกว่าคนปกติ 2-5 เท่า รวมถึงต้องทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อดหลับ อดนอน ส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน การให้บริการกับประชาชน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความชัดเจนโดยตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดขึ้นมาพิจารณารายละเอียด ช่วยบริหารจัดการ อัตราตำแหน่ง กระจายตัวที่เหมาะสม ค่าตอบแทนที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่เป็นภาระของงบประมาณ ทั้งนี้การผลิตหมอ 1 คน ใช้ต้นทุน 4 ล้านบาท ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนค่าตอบแทนจะให้เหมือนอาชีพปกติก็คงไม่ถูกต้อง” นายสมศักดิ์ กล่าว

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ จะทำให้มีการปรับโครงสร้างให้มีความคล่องตัว คนที่ได้รับผลประโยชน์ที่สุดคือประชาชน ได้รับบริการและดูแลให้ดีขึ้น ทั้งประชาชนเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขที่ง่าย สะดวก และดีขึ้น อย่างไรก็ดีในขั้นตอนการทำกฎหมายของ สส. และสว. สามารถปรับแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้การทำร่างกฎหมายดังกล่าวไม่พบว่ามีแรงต้านจากส่วนใด.