นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ว่า กำลังศึกษาทบทวนวิเคราะห์ข้อมูลโครงการ รายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา พร้อมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม.

ซึ่งได้เร่งให้แล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาการจราจรติดขัดค่อนข้างมาก    หากมีการพัฒนารถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้ จะช่วยเพิ่มโอกาส และเป็นทางเลือกการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว

 การประเมินเบื้องต้น จ.เชียงใหม่ จำเป็นต้องมีรถไฟฟ้า แต่เมื่อรฟม. ลงพื้นที่สำรวจพบว่า พื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างคับแคบ มีหลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า จึงต้องปรับแผนสร้างทางวิ่งใหม่ โดยจะให้เป็นใต้ดินในเขตเมืองชั้นในที่จำเป็น จากเดิมอยู่บนดินตลอดแนวเส้นทาง

 นายสุริยะ กล่าวอีกว่า เมื่อมีข้อกังวลก็ต้องกลับมาดูปัญหา หากพัฒนาทางวิ่งเป็นใต้ดินช่วงเขตเมืองที่จำเป็นจะช่วยลดข้อกังวลผลกระทบแหล่งท่องเที่ยว และโบราณสถานได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกสบายมากขึ้น ส่วนพื้นที่นอกเขตเมืองพัฒนาตามแผนเดิมเป็นระดับดิน เชื่อว่าหากปรับแผนลักษณะนี้จะเดินหน้าโครงการได้ เบื้องต้นคาดว่าการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จภายในปี 68 นอกจากนี้ยังมอบให้ รฟม. เร่งสร้างรถไฟฟ้าออกไปนอกตัวเมือง จ.เชียงใหม่ด้วย เพื่อให้ที่อยู่อาศัยใหม่กระจายออกไปอยู่นอกเมือง ช่วยลดความแออัดในเขตเมือง

 “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า เบื้องต้นผลการศึกษาจะเป็นโครงสร้างทางวิ่งผสม ระหว่างใต้ดิน และระดับดินระยะทาง 15.8 กม. วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับดิน 9.3 กม. และทางวิ่งใต้ดิน 6.5 กม. ใช้ระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มี 16 สถานี ระดับดิน 9 สถานี และใต้ดิน 7 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณแยกหนองฮ่อ และมีจุดจอดแล้วจรที่สถานีรพ.นครพิงค์ และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA (คชก.) พิจารณา เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมครบถ้วน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

รฟม. ได้ปรับแผนงานเบื้องต้นใหม่ดังนี้ ปี 68-69 พิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการที่เหมาะสม ปี 69 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรูปแบบการลงทุน ปี 70-71 จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการ (PPP) และปี 71 เริ่มงานก่อสร้าง แล้วเสร็จ และเปิดบริการปี 74 

จากเดิมรฟม.มีแผนก่อสร้างแทรมเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 65 เปิดบริการปี 70 โดยผลการศึกษาเดิมทางวิ่งเป็นแบบผสมทั้งบนดินและใต้ดิน แต่มีการศึกษาทบทวนใหม่สมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรมว.คมนาคม ที่ให้เป็นรถเมล์ล้อเหมือนบีอาร์ทีหรือแทรมล้อยาง โดยเปลี่ยนทางวิ่งมาเป็นบนดินตลอดสาย ซึ่งขณะนี้สมัยนายสุริยะ ก็ต้องกลับมาใช้ผลการศึกษาเดิมให้เป็นแทรมล้อเหล็กและทางวิ่งแบบผสมอีก

 สำหรับแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณรพ.นครพิงค์ เป็นทางวิ่งระดับดินไปตามแนวถนนโชตนา (ทล. 107) จนถึงแยกศาลเชียงใหม่เลี้ยวขวาตามแนวถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จนถึงแยกสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ข้ามคลองชลประทานเลี้ยวซ้ายไปตามถนนคันคลองชลประทานถึงสี่แยกหนองฮ่อเลี้ยวซ้ายขนานถนนหนองฮ่อ (ทล.1366) จนถึงแยกกองกำลังผาเมือง เปลี่ยนเป็นทางวิ่งใต้ดินเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนโชตนาอีกครั้ง ลอดผ่านทางลอดแยกข่วงสิงห์ ไปตามแนวถนนช้างเผือก ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ถึงถนนมณีนพรัตน์(ถนนเลียบคูเมืองด้านนอกฝั่งทิศเหนือ)

จากนั้นเลี้ยวขวาไปจนถึงแจ่งหัวลิน จึงเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนบุญเรืองฤทธิ์ผ่านรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ถึงแจ่งกู่เฮือง ไปตามถนนมหิดล (ทล.1141)ถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ วิ่งตรงไปแนวคลองระบายน้ำข้างท่าอากาศยานเชียงใหม่เปลี่ยนจากระดับใต้ดินเป็นทางวิ่งระดับดินวิ่งไปออกถนนเชียงใหม่-หางดง (ทล.108) สิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี.