ยังมีข่าวลบถาโถมเข้าใส่ “ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ที่มี”บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากจะต้องอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน และพรรคต้องแตกออกเป็น 2 เสี่ยง หลัง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีตเลขาธิการพรรค นำพา 20 สส. ออกไปจากพรรค เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (พท. ) จนทำให้สส.พรรคพปชร. เหลือสส.เพียง 20 คน และยังมีสมาชิกพรรค ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่แน่ใจ จะมีสส.ไหลออกจากพรรคออกหรือไม่ หลัง”ร.อ.ธรรมนัส”กับปูดว่า จะมี สส.อีก 8 คน จะชิ่งหนีออกจาก พล.อ.ประวิตร  ไปอยู่พรรคอื่น

โดยกลุ่มที่คาดว่าจะย้ายออก มี 2 กลุ่ม คือ  กลุ่ม สส.เพชรบูรณ์ของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รอง หัวหน้าพรรค ที่มีสส.เพชรบูรณ์ จำนวน 6 คน  ได้แก่ น.ส.พิมพ์พร พรพฤติพันธุ์  นายจักรัตน์ พั้วช่วย  นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์  นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์  นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์  นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามติดต่อไปที่ นายเนวิน ชิดชอบ เพื่อขอเข้าพรรคภูมิใจไทย (ภท. )   และล่าสุดมีรายงานว่า “ นายสันติ” ได้ปิดดีลที่พรรคพท.เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับ กลุ่มของนายวราเทพ รัตนากร ผอ.พรรค  ที่มีสส.กำแพงเพชร 2 คน คือ นายอนันต์ ผลอำนวย  และ นายปริญญา ฤกษ์หร่าย

แม้”นายไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพปชร. จะ ออกมาชี้แจงถึงกระแสข่าวนายสันติ พร้อมพัฒน์ . และนายวราเทพ รัตนากร สองแกนนำพรรคพปชร. จะนำ ส.ส.ในกลุ่มย้ายไปสังกัดพรรคพท. ว่า เป็นข่าวปล่อยจากผู้ไม่หวังดี เพื่อหวังผลในทางที่ไม่ดีกับพรรค ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนจะปล่อยมาจากฝ่ายไหน ก็รู้กันอยู่ ฝ่ายนั้นคงจะอึดอัดจนทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้

แต่งานนี้ต้องรอดูว่า ข่าวการทิ้งพรรคพปชร. จะเป็นความจริงหรือไม่ เพราะอายุของ”บิ๊กป้อม” ก็เข้าสู่วัย 80 ปี กำลังวังชาเริ่มถดถอย บารมีก็เริ่มลดน้อย เมื่อถึงช่วงสภาฯครบวาระในปี 70 และจะมีการเลือกตั้งใหม่ อาจมีสส.บางส่วนลาออกอีกจากพรรคก็ได้

ขณะที่การยื่นคำร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ “พล.อ.ประวิตร” กรณีลาประชุมสภาฯ 84 ครั้ง จากการประชุม 95 ครั้ง ด้าน“นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประเด็นดังกล่าว ถือเป็นการผิดจริยธรรมหรือไม่ว่า พูดยากเพราะเป็นเรื่องข้อบังคับและกฎหมาย ที่ สส.สามารถทำได้ แต่ก็ตรวจสอบความเหมาะสมได้ ก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจริยธรรมของสภาฯ เมื่อถามย้ำว่า คนที่เซ็นอนุญาตให้ลาได้คือประธานสภาฯ นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้มอบให้”นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ยอมรับว่าตามข้อกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะกำหนดให้สมาชิกลาได้ ถ้าจำเป็น แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน คิดว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกคงจะวัดได้

เมื่อถามย้ำว่า ในอดีตมีการลาประชุมสภาฯ มากเท่านี้หรือไม่นั้น ประธานสภาฯ กล่าวว่า ก็มีคนลาส่วนใหญ่ที่ลาบางคนเป็น สส.และเป็นรัฐมนตรีด้วย หรือสมัยก่อนนายกฯ เป็นสส.ก็ติดภารกิจเยอะเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจำนวนมากขนาดนี้หรือไม่ เห็นว่าถือเป็นเรื่องดี ที่มีคนสนใจการปฏิบัติหน้าที่ของ สส.เวลาไปเลือกตั้งประชาชนก็จะได้เห็น ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนจะตรวจสอบ เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างโปร่งใสและชัดเจน เมื่อถามว่าการตรวจสอบเรื่องลักษณะนี้จะต้องเรียกเจ้าตัวมาชี้แจงหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การสอบถามเป็นเรื่องของอนุกรรมการฯที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่เราไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับเหมือนศาลว่าต้องมาให้ถ้อยคำ ถ้าเจ้าตัวไม่มาให้ถ้อยคำ ก็ถือเอาตามเหตุการณ์แวดล้อม และคำร้อง ซึ่งคนที่ถูกร้องก็จะเสียเปรียบเอง

นั่นหมายความว่า ปมคำร้องเรื่องการลาประชุมสภาฯ ของ”บิ๊กป้อม” กำลังเข้าสู่การพิจารณากรรมการจริยธรรม แม้ในทางกฎหมายอาจไม่ผิด แต่ในแง่จริยธรรมยังต้องลุ้น ซึ่งเท่ากับเรื่องนี้ยังจะเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง จนยากที่คาดเดาว่า บทสรุปจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าออกในทางลบ ก็จะกระทบกับภาพลักษณ์หัวหน้าพรรคพปชร.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้าน “นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” อดีตโฆษกพรรคพท. ก็ยังเคลื่อนไหวตรวจสอบ”พล.อ.ประวิตร”อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็นเกมตอบโต้ทีมกฎหมายจากบ้านป่า “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ที่เดินหน้ายื่นเรื่องสอบ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. อดีตโฆษกพรรคพท. เดินทางไปที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ายื่นหนังสือให้ ให้ไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า “พล.อ.ประวิตร” มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (รธน.) หรือกฎหมายหรือไม่ โดยนายพร้อมพงศ์ ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร กรณีมีพฤติการณ์ที่น่าจะขัดต่อจริยธรรมอันร้ายแรง และจงใจปฏิบัติหน้าที่ไปในทางผิดกฎหมาย และขัดต่อรธน.และกฎหมายของป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน”พล.อ.ประวิตร” น่าจะลาประชุมสภาฯ เป็นฉากบังหน้า โดยอ้างว่าติดภารกิจถึง 84 ครั้ง จากวันประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของการทำงาน 

พร้อมระบุว่า อยากเตือนสติ พล.อ.ประวิตร ในฐานะที่อดีตเคยเป็นผบ.ทบ. มีตำแหน่งใหญ่ทางการเมืองมาแล้ว และยังเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อความสง่างาม ต้องลาออกจาก สส. และแถลงข่าวขอโทษประชาชนจะได้จบเรื่องไป จะได้ไม่ต้องตรวจสอบต่อ ตนตรวจสอบมาซึ่งมีหลายภาค เช่น ภาคที่ 1 คลิปติดวิญญาณลุง ภาคที่ 2 ลาสะท้านโลก และภาคที่ 3 ในวันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 10.00 น.จะเดินทางไปสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง( สตม.) จะไปร้องเรื่องที่ พล.อ.ประวิตร อาจรับผลประโยชน์เกิน 3,000 บาท ในเรื่องชื่อ นักบุญทุนประชาชน “รวมถึงในอนาคตตนขอใบ้ให้ว่าจะมีภาคที่ 4 วงศาคณาญาติเป็นพิษ และ ภาคที่ 5 นารีและบริวารเป็นพิษ

คงต้องยอมรับ แม้คำร้องจะยังไม่ได้มีบทสรุปว่า ผิดกฎหมายขัดรธน.หรือไม่ แต่การเคลื่อนไหวของนายพร้อมพงศ์ ก็กลายเป็นประเด็นให้หลายฝ่ายติดตาม ทั้งเรื่องเรียกร้องให้กองทัพบก ยึดคืนบ้านป่ารอยต่อฯ ที่อยู่ในค่ายทหาร ตั้งมูลนิธิฯ แต่นำใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อบางงรายการนำคลิปเสียงหลุดออกมาเผยแพร่ คำถาม “พล.อ.ประวิตร”และทีมงาน จะตั้งรับมือกับมรสุมต่างๆ และหลุดพ้นคำร้องต่างๆได้อย่างไร

ส่วนประเด็นการแก้ไขพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรธน.นั้น นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาได้นัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยมีวาระพิจารณา เรื่องด่วน คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ. ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ )วิสามัญฯ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของรายงานซึ่งกมธ.เสนอต่อที่ประชุม พบว่า มีการแก้ไขเพียง 1 มาตรา  ในมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ โดยกมธ.ได้แก้เพิ่มเติมไปจากบทบัญญัติที่สภาฯ เห็นชอบ โดยได้เติมข้อความในวรรคสอง กำหนดให้การทำประชามติ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ซึ่งแปลความได้ว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรธน. ขณะที่เรื่องทั่วๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ “เสียงข้างมากของผู้ออกมาออกเสียง และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนน ไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ

ทั้งนี้ในรายงานดังกล่าว ต่อการแก้ไข มาตรา 7 นั้น พบว่ามีกมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น ได้แก่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส  สว. นายกฤช เอื้อวงศ์  นายนิกร จำนง นายวุฒิสาร ตันไชย และ น.ส.อุดมลักษณ์ บุญสว่าง ซึ่งเป็นกมธ.ในโควตาของรัฐบาล

ด้าน “ นายนิกร จำนง “ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะที่ปรึกษากมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กมธ.มีมติสนับสนุนให้เปลี่ยนเกณฑ์ออกเสียงประชามติ ให้กลับไปใช้รูปแบบเดิมว่า กมธ.ได้ทบทวนมติในส่วนของมาตรา 13 โดยให้กลับมาใช้ระบบเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ ทั้งนี้ ในฐานะ กมธ.ได้ขอสงวนคำแปรญัตติให้ยึดตามร่างของสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว

นายนิกร กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนหากวุฒิสภาเห็นชอบให้มีการแก้ไขตามที่เสียงข้างมาก นั่นคือ จะต้องส่งร่างที่แก้ไขกลับมาที่สภาฯ ร เพื่อพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่า สภาฯจะไม่เห็นชอบ ดังนั้น ต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วม เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปใหม่อีกครั้ง และส่งกลับไปใหม่ทั้ง 2 สภา อย่างไรก็ตาม หากมีสภาใดไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องถูกยุติไว้ 180 วัน หลังจากนั้น สภาฯาษฎรสามารถนำร่างดังกล่าว กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้ และหากได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย

“หากกระบวนการเป็นเช่นนี้ จะเกิดความยุ่งยาก เพราะจะไม่ทันการทำประชามติครั้งแรกในวันที่ 2 ก.พ. ตามที่วางแผนไว้ หากเป็นเช่นนั้น การร่างรธน.ฉบับใหม่ จะไม่มีทางทำได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 สภาเห็นชอบร่วมกัน มองว่าการทำประชามติครั้งแรก จะยังทันตามไทม์ไลน์เดิมอยู่” นายนิกรกล่าว

ส่วน”นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา” ประธานรัฐสภา ให้เห็นกรณีกรณีสมาชิกวุฒิสภา( สว.) ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากปกติ แต่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้นว่า ต้องรอดูสุดท้ายจะเป็นอย่างไร โดยการตั้งคณะกมธ. ร่วม ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามนั้น เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้การแก้ไขประชามติ อาจจะทำให้การจัดทำรธน.ฉบับใหม่ ไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติ เวลาที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือทำประชามติ แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิครึ่งหนึ่ง แต่เห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ จึงต้องดูรายละเอียด เพราะขึ้นอยู่กับกฎหมาย ขณะนี้ความเห็นร่วมกันเรื่อง การแก้ไขรธน.ยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจะทันในสมัยรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจน ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น ประเด็นการทำประชามติเป็นประโยชน์น่าสนใจ สำหรับประชาชนหรือไม่ เช่น การเลือก สส.ที่มีประชาชนมาใช้สิทธิ์เกินร้อยละ 70 เพราะได้รับความสนใจจากประชาชน ขณะที่การทำประชามติไม่รู้ว่าประชาชนสนใจหรือไม่

ผลการปรับเปลี่ยนของกมธ.ฯของวุฒิสภาฯ ทำให้หลายฝ่ายตีความ เป็นการเดินเกมของสว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ” พรรคภท.” ต้องการยื้อกระบวนการร่างรธน.ใหม่ ซึ่งทำให้การร่างรธน.ฉบับใหม่ฉบับใหม่ไม่ทันปี 70 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ หลังสภาฯครบวาระ 4 ปี ต้องรอตามดูว่า ที่ประชุมวุฒิสภา จะเห็นด้วยกับกมธฯหรือไม่ ซึ่งมีความหมายกับร่างรธน.ฉบับใหม่ หรือรธน.ปี 60 ยังคงอยู่อีกต่อไป

“ทีมข่าวการเมือง”