สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานความสำเร็จของทีมนักวิทยาศาสตร์จากจีนในการค้นพบข้อมูลดีเอ็นเอของสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น “ชีสที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” โดยก้อนชีสเหล่าได้มาจากซากมัมมี่ยุคสำริดในสุสานของจีนที่ถูกฝังไว้มื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล

ชีสดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์นมหมักที่เรียกว่าคีเฟอร์ (Kefir) ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ทีมวิจัยพบชีสคีเฟอร์ก้อนเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่รอบบริเวณศีรษะและลำคอของซากมัมมี่ซึ่งมีอายุระหว่าง 3,300 – 3,600 ปีก่อนในแอ่งทาริม (Tarim basin) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน 

ผลงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Cell บนเว็บไซต์ Cell.com ข้อมูลจากการวิจัยชี้ว่าก้อนชีสเหล่านี้อยู่ในลักษณะที่เคลือบผิวชั้นนอกบริเวณลำคอและศีรษะของมัมมี่หลายศพในสุสานชาวเสี่ยวเหอ

แม้ว่าก้อนชีสสีขาวเหล่านี้จะถูกค้นพบตั้งแต่เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน แต่เพิ่งได้รับการยืนยันเมื่อไม่นานมานี้เองว่าพวกมันคือ “ชีส”

ฝูเฉียวเม่ย หนึ่งในนักวิจัยของทีมกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะเก็บรักษาอาหารประเภทชีสเอาไว้ได้เป็นเวลานานหลายพันปี ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่หายากและมีค่ายิ่ง การศึกษาชีสโบราณเหล่านี้จะช่วยทำความเข้าใจเรื่องอาหารและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของชาวจีนได้ดียิ่งขึ้น

ทีมวิจัยพบสารสกัดจากไมโตคอนเดรียซึ่งจะมีอยู่ในดีเอ็นเอทั้งของวัวและแพะจากหลุมศพ 3 แห่ง ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความชอบด้านอาหารประเภทนี้ของชาวเสี่ยวเหอ ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัรฑ์จากนมของกรีซและตะวันออกกลางที่จะแยกน้ำนมของสัตว์ชนิดต่างๆ ออกจากกัน ก่อนที่จะนำไปทำเป็นชีส 

นอกจากนี้ยังพบเชื้อแบคทีเรียที่ตรงกับคีเฟอร์เกรนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตนมหมักคีเฟอร์ในปัจจุบัน ทำให้ทีมสามารถติดตามร่องรอยย้อนไปหาต้นกำเนิดได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตชีสในปัจจุบันที่ใช้แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ดูเหมือนว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากทั้งจีนและรัสเซีย แต่ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า กรรมวิธีนี้ใช้กันเฉพาะในเทือกเขาคอเคซัสของรัสเซียเท่านั้น

การศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นว่าแบคทีเรียเหล่านี้อาจทำให้ดีเอ็นเอในนมมีเสถียรภาพและทำให้เกิดการหมักนมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 

ฝูกล่าวว่านี่เป็นขอบเขตการวิจัยที่ไม่มีใครศึกษามาก่อน และทำให้ทีมเฝ้าสังเกตได้ว่าแบคทีเรียมีวิวัฒนาการอย่างไรในช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การสำรวจผลิตภัณฑ์จากนมในอดีตยังทำให้ได้เห็นภาพชีวิตของมนุษย์ในยุคโบราณและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกในยุคนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การค้นพบดีเอ็นเอของชีสที่เก่าที่สุดในโลกนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และทีมวิจัยหวังว่าจะสามารถอาศัยเทคโนโลยีนี้ในการสำรวจสิ่งของเครื่องใช้ยุคโบราณอื่น ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนเป็นการเพิ่มเติมได้

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : Wenying Li, Yimin Yang et al/Journal of Archaeological Science