เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 ก.ย. ประจำปี 2567 โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาระดับกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการทุกระดับ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ธงชาติไทยเราเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะว่าเรามีเป็นสัญลักษณ์เป็นศูนย์รวมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยเรา ประกอบด้วย 3 สถาบันหลัก ได้แก่ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะราชสีห์ผู้จงรักภักดีต่อแผ่นดินต่างมุ่งมั่นในการเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติทั้ง 3 ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ด้วยการมุ่งมั่นร่วมกันทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค เพราะพวกเราทุกคนคือพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านนอกจากจะทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทั้งชาติแล้ว ยังทรงเป็นเอกกษัตริย์ผู้ทรงทำให้ประเทศชาติของเราเป็นปึกแผ่น เป็นเอกราช และไม่ว่าคนไทยจะมีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อต่าง ๆ ทุกคน ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความสุขอย่างยั่งยืนใต้ร่มพระบารมี เป็น Unity หนึ่งเดียวกัน จะอยู่เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ซึ่งแต่ละภูมิภาคล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า วิถีชีวิต หรือความเชื่อหรือภาษา ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่เราหลอมรวมกันได้เพราะ “พระมหากษัตริย์”

“ในฐานะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตนขอฝากพวกเราชาวมหาดไทย ดึง passion ความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา ด้วยการทุ่มเททำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องประชาชนในทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำคัญที่สุด คือ การน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้พวกเราทุกคน นับเนื่องแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งคำว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และคำว่า “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องน้อมนำมาเป็นหลักชัยในการปฏิบัติราชการงานของแผ่นดินอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้พระราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการเกิดสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งเป็นไปตามแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้ประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง มาประดิษฐานไว้ในหัวใจพวกเราทุกคนเพื่อเตือนใจและทำหน้าที่ในทุกเวลานาที” ในด้านศาสนาก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา ทั้งพระพุทธศาสนา และศาสนาต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่สอนให้คนเป็นคนดี ซึ่งคำว่า “คนดี” นั้น คือคำตอบของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมในสังคมทุกชนิด เพราะว่าทุกคนเป็นคนดีจากการยึดมั่นในศาสนา ร่วมกันปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอน เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ธงชาติไทยเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราในการประกอบกิจการชีวิตประจำวันและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกของสังคม และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เต็มศักยภาพ ไม่รีรอที่จะทำสิ่งที่เสริมสร้างคุณประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขและความมั่นคงสถาวรของชาติ จงคิดว่า “มด 1 ตัว คน 1 คน มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสิ่งที่ดีให้กับผืนแผ่นดินได้” เหมือนที่ฝรั่งเขากล่าวว่า แค่คิดขยับปีกก็สร้างความสะเทือนไปถึงดวงดาวได้ เป็น Butterfly effect ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ต่างชาติเชื่อมั่นว่า เป็นเรื่องจริง อันหมายถึง คนหนึ่งคนสามารถช่วยทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามได้ และยึดถือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่อยู่ในธงชาติไทย คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แม้ว่าทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้เห็นวีรกรรมขององค์กษัตริยาธิราชเจ้า เฉกเช่นสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้ารัชกาลก่อน ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องตำรับตำราและหลักสูตรการเรียนรู้ ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ค่อยจะได้เข้าถึงความภาคภูมิใจที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น พวกเราในฐานะคนมหาดไทย ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีของชาติ ด้วยแนวคิดที่จะ Change for Good ดังที่เราได้ฝึกอบรมวิทยากรผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ประจำท้องถิ่นรุ่นต่าง ๆ (ครู ก.) ทั้ง 19 รุ่น โดยมีพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกด้านทั้ง 7 ด้าน แสดงเจตจำนงหลอมรวมพลังในการเป็นผู้เผยแพร่บอกเล่าคุณงามความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์และความภาคภูมิใจของความเป็นคนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้อบรมวิทยากร ครู ข. โดยมีวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน มาร่วมเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งประวัติศาสตร์จะช่วยทำให้คนทุกเชื้อชาติภาคภูมิใจคนในชาติ มีความผูกพันและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบรรพบุรุษไทย และสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยพวกเราคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนธงชาติจากผืนสีแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ให้เป็น “ธงไตรรงค์” ซึ่งการกำหนดให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย มีปฐมเหตุที่เกี่ยวข้องกับพวกเราชาวกระทรวงมหาดไทยโดยตรง สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมืองอุทัยธานี ที่มีพระยาพิไชยสุนทร (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี พสกนิกรต่างยินดีปรีดาร่วมกันในการประดับธงช้าง ซึ่งเป็นธงชาติในยุคนั้น แต่เนื่องจากธงช้างหายาก มีราคาแพง และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผู้คนจึงประดับธงช้างเท่าที่มีอยู่ และใช้ผ้าพื้นสีแดงขาว ประดับและจับจีบผ้าทั่วบริเวณ โดยทรงทอดพระเนตรพบว่า บ้านบางหลังมีการประดับธงช้างสลับกลับด้าน คือ ช้างนอนหงายปลายเท้าชี้ฟ้า ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนครจึงทรงมีแรงบันดาลพระทัยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 และพระราชทานธงชาติไทยให้มีลักษณะเป็นแถบสีเพื่อไม่ให้มีหัวมีท้าย หรือเรียกว่า “ธงไตรรงค์” มี 3 สี คือ “สีแดง” หมายถึง ชาติและเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในชาติ นั่นคือ ประชาชน “สีขาว” หมายถึง ศาสนา และ “สีน้ำเงิน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ ในวันที่ 28 กันยายน 2460″ นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณชาวมหาดไทยทุกคน ณ ที่นี้ ที่มาเป็นตัวแทนของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางในการที่จะน้อมรำลึกนึกถึงวันที่เราได้เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงที่สื่อความหมายของความเป็นคนไทย ของความเป็นประเทศชาติ และตั้งใจในการใช้ passion ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การรับใช้ประเทศชาติ รับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ ในการดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้พบกับความสุขอย่างยั่งยืน ขอให้ชาวมหาดไทยทุกคนมีความสุข มีความเจริญ ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในหน้าที่ราชการ หน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หน้าที่ของคนมหาดไทย” ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน และทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดีที่สุดตลอดชีวิตของพวกเราทุกคน เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืนตลอดไป