สำนักงานเกษตรกจังหวัดกำแพงเพชร จัดประกวดกล้วยไข่ดิบ-สุก และกล้วยไข่ GI พืชอัตลักษณ์จังหวัดกำแพงเพชร ไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถแปรรูปและทำอาหารได้หลากหลาย จังหวัดกำแพงเพชรถือว่าขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่ เป็นพืชอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นไม้ผลที่เคียงคู่กับจังหวัดมาช้านาน คุณภาพกล้วยไข่กำแพงเพชร มีจุดเด่นของรสชาติที่หวาน เนื้อในนุ่ม เหนียว กลิ่นหอม ผลสวย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคแล้วยังผูกพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น คืองานเทศกาลสารทไทยกล้วยไข่ จึงกลายเป็นไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 

ภายในบริเวณสถานที่จัดประกวดกล้วยไข่สุก-ดิบ และกล้วยไข่ GI ในงาน“ประเพณีสารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง” ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน – 5 ตุลาคม 2567 โดยมีเกษตรกรชาวสวนกล้วยไข่ทั้ง 11 อำเภอ ส่งกล้วยไข่เข้าประกวด ปีนี้เกษตรกรที่ส่งกล้วยไข่เข้าประกวดมีความสวยงามและสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพอากาศดีไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทางคณะกรรมการต้องพิจารณากันเป็นเวลานาน ให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ ลักษณะทางกายภาพ รูปทรงผล ผลอ่อนเปลือกสีเขียว เนื้อผลสีครีมอมเหลือง ผลแก่เปลือก สีเหลืองกระดังงา เนื้อผลสีเหลือง จำนวน 5-8 หวี/เครือ 15-30 ผล/หวี ก้านผลสั้น ผลขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 7-11 เซนติเมตร เปลือกบาง ผลอ่อนเปลือกสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลืองสด เมื่อแก่ประมาณ 90 % จะเกิดจุดดำเล็กๆ ประปรายบนเปลือก เนื้อกล้วยมีสีครีมอมส้ม เนื้อแน่นรสชาติหวาน ในส่วนของการประกวดปีนี้ มีการประกวดกล้วยไข่ GI สุกด้วย โดยกล้วยไข่กำแพงเพชร แม้ว่าปัจจุบันมีพื้นที่การเพาะปลูกน้อยลง แต่ยังเป็นสินค้าสำคัญที่ยังทำรายได้จำนวนมากให้จังหวัด การจัดงานนี้จึงถือเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย ปัจจุบันเป็นสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่มีรูปร่างลักษณะและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในปีนี้ก็มีการจัดประกวดกล้วยไข่ GI กำแพงเพชร จากเดิมที่ประกวดกล้วยไข่ธรรมดา 
 

สำหรับในเรื่องของการปลูกกล้วยไข่ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร รณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธ์กล้วยไข่ของกำแพงเพชร โดยส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะมีการสนับสนุนหน่อกล้วยไข่พันธุ์พื้นเมือง หลังจากที่ปลูกแล้วแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการดูแลและส่งหน่อที่ขยายพันธุ์ได้กลับคืนมายังสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อทำการขยายพันธุ์ต่อไป เป็นการเพิ่มพื้นที่และอนุรักษ์กล้วยไข่พันธุ์พื้นเมืองจังหวัดเอาไว้โดยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม 

เกษตกรอำเภอโกสัมพีนคร เล่าให้ฟังว่า แต่ละปีจะแบ่งพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ จำนวน 5-10 ไร่ เริ่มปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เมื่อมีงานสารทไทยกล้วยไข่ จะส่งกล้วยไข่เข้าประกวดทุกปี ปีนี้จะได้รางวัลหรือไม่ได้ ไม่เป็นไรใจรัก เพราะว่าเป็นผลไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชร แม้นว่าการปลูกกล้วยไข่จะเสี่ยงประสบปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะลมเป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวน หากมีพายุลมแรงจะส่งผลให้ต้นกล้วยหักโค่นเสียหายได้ ส่วนราคาเมื่อให้ผลผลิตถือว่าได้ค่าตอบแทนที่ดี ราคาหน้าสวนขายกิโลกรัมละ 25-30 บาท หนึ่งเครือน้ำหนักประมาณ 7-15 กิโลกรัม สำหรับการประกวดกล้วยไข่สุก-ดิบ และกล้วยไข่ GI ในงาน “ประเพณีสารทไทย – กล้วยไข่ และของดีเมืองกำแพง” ประจำปี 2567 ผลการประกวดกล้วยไข่ดิบ รางวัลที่ 1 นายสมเกียรติ ไชยศรี บ้านเลขที่ 100/1 หมู่ 2 ต.เกาะตาล อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร, ผลการประกวดกล้วยไข่สุก รางวัลที่ 1 นางอำไพ สังข์ทรัพย์ บ้านเลขที่ 173/2 หมู่ 1 ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร, ผลการประกวดกล้วยไข่ GI สุก รางวัลที่ 1 นางนงค์คาน ถีติปริวัตร์ บ้านเลขที่ 306/3 หมู่ 1 ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร