เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 25 ก.ย.67 ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงถึงกรณีคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.ว่า คดีนี้ไม่ว่าสำนวนไหนกำลังนับถอยหลัง 30 วัน และต้องจับตาดูความคืบหน้ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ว่าจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ ซึ่งคดีตากใบแบ่งออกเป็นสองสำนวน โดยมีหนึ่งสำนวน ที่ราษฎรจำนวน 48 คนฟ้องเองต่อศาล ในจังหวัดนราธิวาส พร้อมกับนัดเบิกความและให้การไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยจำเลยทั้ง 7 คน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ได้เดินทางไปยังศาล ศาลจึงออกหมายจับ 6 คน โดยจำเลยที่หนึ่งศาลออกหมายเรียก คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากฝั่งจำเลย หรือตำรวจ ว่าได้มีการจับกุมผู้ที่ออกหมายจับได้หรือไม่ และไม่มีการตอบรับจากฝั่ง พล.อ.พิศาล แม้ตนเองจะเรียกร้องไปยังหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะนายกรัฐมนตรี ให้มีการโน้มน้าว พล.อ.พิศาล เดินทางไปยังศาล ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ทางด้านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตอบหนังสือจากศาลจังหวัดนราธิวาสที่ขอจับ สส. คนดังกล่าวสามารถดำเนินคดีได้เลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125  ซึ่งนัดครั้งต่อไปคือวันที่ 25 ต.ค.นี้

“อยากให้ทุกคนเฝ้าติดตามและทราบว่าฝ่ายโจทก์ กำลังที่จะทำหนังสือถึงศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อขอให้ศาลพิจารณาออกหมายจับ พล.อ.พิศาล ซึ่งเป็นจำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ ผมเห็นว่ากรณีนี้ไม่เคยได้พบเจอภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และภายใต้เงื่อนไข อายุความของคดี ที่เหลืออยู่เพียงไม่ถึงเดือน ซึ่งเงื่อนเวลาของคดีนี้ ต้องฝากสื่อมวลชนติดตาม ว่ากำลังมีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องออกหมายจับไปแล้ว”นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ส่วนอีกสำนวนคือ อัยการสูงสุด ได้มีการแถลงเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ว่ามีความเห็นสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหา ซึ่งอัยการจะต้องส่งไปให้พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 8 คน ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายความมั่นคงกำลังเตรียมกำหนดการประชุมทีมในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนที่น่าเป็นห่วง เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนแม้จะเป็นคนละกลุ่มผู้ต้องหา แต่มีที่เชื่อมต่อกัน 1 ราย ที่เป็นอดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตาและฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมฝากทาง กอ.รมน. ที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังตำรวจชายแดนภาคใต้ ว่าต้องกำชับให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะหากมีการเตรียมรับมือหลังขาดอายุความ ก็หมายความว่าคดีนี้ไม่สามารถนำจำเลย หรือผู้ต้องหาเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลได้เลยหรือไม่ ดังนั้นต้องกำชับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงาน ตามหน้าที่ที่ควรจะทำ ทั้ง 2 สำนวน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง

“ฝากนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงอย่าง ให้ติดตามการทำงานของตำรวจอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะพึ่งมารับหน้าที่ แต่นายภูมิธรรมก็ทำหน้าที่มาสักพักแล้ว นายกรัฐมนตรีโดยตัวท่านเองก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่าท่านทำอะไรได้มากกว่านี้” นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวยังว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับการติดตามคดี มาชี้แจงในที่ประชุมในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ซึ่งตนไม่ได้เป็นกมธ.ชุดนี้ แต่ในฐานะสส. ก็เตรียมที่จะตั้งกระทู้ในเรื่องนี้ ถึงฝากรัฐบาลเตรียมตอบคำถามเรื่องนี้ด้วย แยังมีอีกหนึ่งคดีคือนักกิจกรรมมาลายู 9 คน ที่ดำเนินมา 2 ปี และในวันพรุ่งนี้อัยการมีการฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาล จากคดีที่นักกิจกรรมมาลายูรวมตัวกันชุมนุมที่หาดวาสุกรี คดีนี้เป็นคดียุทธศาสตร์ เป็นคดีสัญลักษณ์ ที่เป็นการชี้ขาดว่า ประเทศนี้จะเปิดโอกาส ให้ประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ติดอาวุธ ใช้การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีมีปากมีเสียง มีพื้นที่ทางการเมืองมากน้อยขนาดไหน ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องฝากนายกรัฐมนตรีให้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นการส่งสัญญาณไม่บวกก็ลบแน่ ๆ ต่อกระบวนการสันติภาพ

นายรอมฎอน กล่าวถึง ความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังเคว้งอยู่ ซึ่งตนเองเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปล้นปืนและเผาอาคารเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ต้องการความชัดเจนของรัฐบาลไทยอย่างมากว่าทิศทางการแก้แก้ไขปัญหาทางการเมือง ของรัฐบาลจะเดินไปอย่างไร จึงขอเรียกร้องและเร่งให้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุข และพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยต้องสื่อสารให้เร็ว เพราะไม่เช่นนั้นตัวความรุนแรงจะกลับเข้ามา ถ้าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ รับมือกับสถานการณ์นี้อย่างเดียวส่วนตัวเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์บานปลาย.