เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาห้ามบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.)  กระทำการและให้ยุติการกระทำใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ทางเข้าออกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ ที่อยู่ติดกับเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา-บางวัว ซึ่งบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวง ได้เป็นการชั่วคราว และให้ ทอท. ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เป็นเงินจำนวน 2,991,201.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

และให้คำสั่งของศาลลงวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา มีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะพันระยะเวลาการอุทธรณ์ และในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ยื่นฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 62 กรณี ทอท. ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจฯ ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินให้ทำทางเชื่อม ในเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านถนนบางนา-บางวัว โดยอ้างว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่ง ทอท. เป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ จึงขอให้ศาลสั่งห้าม ทอท. ยุติการกระทำอันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิด อุปสรรคต่อการใช้ทางเข้าออกของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 145,597,656.36 บาท พร้อมดอกเบี้ย

ส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวระบุเหตุผลว่า ที่ดินบริเวณที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเข้าออกด้านทิศใต้ของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยกรมการบินพาณิชย์ หรือปัจจุบันคือกรมท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการสำรวจและเจรจาตกลงซื้อขายกับราษฎรเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดสร้าง ทางเข้าออกสนามบินพาณิชย์ ในระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2511 เพื่อจัดสร้างสนามบินหรือท่าอากาศยานพาณิชย์ ที่ดินดังกล่าว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะตามมาตรา 1304(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2518 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 โดยกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้แล้ว แม้ต่อมาเมื่อกรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างทางเข้าออกด้านทิศใต้ของท่าอากาศสุวรรณภูมิบนที่ราชพัสดุดังกล่าวแล้วเสร็จ และจัดระบบหมายเลขทางหลวงเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ก็ตาม   

แต่เมื่อไม่มีการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2518 หรือมาตรา 34 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามแผนที่แนบท้าย ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ (สนามบินสุวรรณภูมิ) ฉบับลงวันที่ 30 ก.ย. 2545 ที่กรมการบินพาณิชย์ ตกลงให้การทำอากาศยานแห่งประเทศไทย ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวนเนื้อที่ประมาณ 19,251 ไร่ นั้น ไม่ได้รวมถึงที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างทางเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศใต้ด้วยแต่อย่างใด ทอท. จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะตั้งเต็นท์ในที่ราชพัสดุดังกล่าวเพื่อขวางทางเข้าออกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ การกระทำของ ทอท. จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายและทำให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่อาจใช้ทางเข้าออกได้ การกระทำละเมิดต่อบริษัทผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว.