ในเวลานี้ “ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก” สาเหตุเป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ลดดอกเบี้ยแรง 0.50% และมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ รวมทั้งราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวพุ่งสูง แล้วค่าเงินบาท หรือที่เรียกว่าอัตราแลกเปลี่ยน คืออะไร เงินบาทแข็งค่า หรืออ่อนค่า เป็นอย่างไร?

อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร?
เมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศ แต่ใช้สกุลเงินต่างกัน ประเทศคู่ค้าต้องทำการกำหนด “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างเงินสองสกุล ซึ่งการเทียบเงินสกุลที่ต่างกันนี้ ไม่ได้เปรียบเทียบจากขนาดของประเทศหรือขนาดเศรษฐกิจ แต่จะเปรียบเทียบจาก “อำนาจซื้อที่แท้จริง” ของเงินสกุลนั้น ๆ ในการซื้อสินค้าหรือบริการ

ค่าเงินแข็ง/อ่อน คืออะไร?
อัตราแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเท่าเดิมเสมอไป อาจแพงขึ้นหรือถูกลงก็ได้ หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า ค่าเงินแข็งหรืออ่อน ยกตัวอย่าง “ค่าเงินบาทแข็ง” หมายถึง เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น หากเมื่อวานนี้ใช้เงิน 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 28 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เงินบาทมีค่ามากขึ้นหรือ “แพงขึ้น” เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่า “ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ”

ส่วน “ค่าเงินบาทอ่อนลง” ก็มีลักษณะตรงข้าม คือ เงินบาทมีค่าน้อยลงหรือ “ถูกลง” เช่น เมื่อวานใช้เงิน 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์นี้เรียกว่า “ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ”

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินแข็ง/อ่อน?
เงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าที่ราคาขึ้นลงจากกลไกตลาด หรือกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเงินตราของแต่ละประเทศ เช่น กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย เงินบาทก็จะแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ในทางกลับกัน หากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเอาเงินบาทมาขาย เงินบาทก็จะถูกลง (อ่อนค่าลง)

เงินบาทแข็งค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นใครบ้าง?

  • ผู้นำเข้า จ่ายเงินเท่าเดิม ได้ของเพิ่มขึ้น หรือนำเข้าสินค้าเท่าเดิมในราคาที่ถูกลง
  • นักลงทุน ลงทุนนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ในราคาถูกลง
  • ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ ใช้เงินบาทน้อยลง ชำระหนี้เท่าเดิม
  • คนไทยไปเที่ยว นักศึกษาที่จะไปเรียนต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อเทียบเป็นเงินบาท
  • คนทั่วไป ซื้อสินค้านำเข้าในราคาถูกลง

เงินบาทแข็งค่า ผู้ที่เสียประโยชน์เป็นใคร?

  • ผู้ส่งออก ส่งออกของเท่าเดิม ได้รับชำระเป็นเงินดอลลาร์เท่าเดิม แต่แลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  • คนไทยทำงานในต่างประเทศ เอาค่าจ้างกลับมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  • ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินต่างประเทศ นำมาแลกเงินบาทได้น้อยลง

เงินบาทอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ?

  • ผู้ส่งออก ส่งออกของเท่าเดิม ได้รับชำระเป็นเงินดอลลาร์เท่าเดิม แต่แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
  • คนไทยทำงานในต่างประเทศ เอาค่าจ้างกลับมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
  • ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินต่างประเทศ นำมาแลกเงินบาทได้มากขึ้น

เงินบาทอ่อนค่า ผู้ที่เสียประโยชน์?

  • ผู้นำเข้า จ่ายเงินเท่าเดิม ได้ของน้อยลง หรือนำเข้าสินค้าเท่าเดิมในราคาที่แพงขึ้น
  • นักลงทุน ลงทุนนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ในราคาแพงขึ้น
  • ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ ใช้เงินบาทมากขึ้น ชำระหนี้เท่าเดิม
  • คนไทยไปเที่ยว นักศึกษาที่จะไปเรียนต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นเมื่อเทียบเป็นเงินบาท
  • คนทั่วไป ซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพงขึ้น

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย