เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศรส. พม. รายงานการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. – 20 ก.ย. พบว่า มีพื้นที่ 30 จังหวัด 89 อำเภอ 357 ตำบล 1,923 หมู่บ้าน 71,234 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยพบว่ามีประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ จำนวน 48,110 ครัวเรือน 56,110 ราย แบ่งเด็ก 7,400 ราย เยาวชน 5,391 ราย คนพิการ 9,912 ราย ผู้สูงอายุ 29,092 ราย และผู้มีรายได้น้อย 5,168 ราย


นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงพม.ให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว 13,157 ราย โดยช่วยเป็นเงินสงเคราะห์ต่างๆ 5,337 ครอบครัว การให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ 4,592 ราย การซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย 50 ราย และการกำพร้า 6 ราย 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ได้มีการประชุมคณะกรรมการ พอช. ครั้งที่ 10/2567 และมีมติเห็นชอบเรื่อง การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่องค์กร(สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้านเรือนของสมาชิกได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุยางิ สถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในช่วงเดือนส.ค. 2567 และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 29 องค์กร 6,434 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด เชียงราย พะเยา แพร่ เลย หนองคาย นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยเมื่อ พอช. ออกประกาศในสัปดาห์หน้าแล้ว องค์กรที่เดือดร้อนสามารถยื่นความประสงค์เข้ามาได้เลย เสนอขอพักได้ไม่เกิน 3 เดือนในรอบนี้นับแต่วันที่ประสงค์ขอพัก และหากมีพื้นที่อื่นๆ ได้รับผลกระทบเพิ่มก็จะเสนอคณะกรรมการ พอช. ขอเพิ่มพื้นที่ออกไป


สำหรับเรื่องปัญหาโคลนภายหลังจากน้ำลดแล้วนั้น คงต้องอาศัยแรงกายแรงใจ และต้องให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงหน่วยงานที่ได้ลงพื้นที่ด้วย ได้เห็นน้ำใจจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ


ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญ คือน้ำที่ท่วมในปีนี้เป็นน้ำโคลนเลน 100% ทำให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่ตกลงมานั้นชะล้างแต่ดินลงมา จากนี้ไปคงต้องฝากประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำต้นน้ำให้รักษาพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ และพืชคลุมดิน เนื่องจากเป็นห่วงเหลือเกินว่าสถานการณ์ในปีต่อๆ ไปจะซ้ำรอยอีก หากเราไม่เพิ่มพื้นที่สีเขียว