เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 นางนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักวิชาการ นักเขียนชื่อดัง โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว โดยเป็นภาพศิลปะปูนปั้นภูมิปัญญาของชาวเมืองเพชรบุรี พร้อมระบุข้อความว่า “พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไม่ถึง 1 ปี มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร พระอารามหลวง จ.เพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้”

ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีความเชี่ยวชาญและสนใจในประเด็น คติชน วรรณกรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ศิลปะ ระบุว่า พื้นที่และชิ้นงานเป็นทรัพย์สินของวัด วัดมีอำนาจในการบริหารจัดการได้ แต่ในความเห็นคิดว่ามีวิธีการในการบริหารจัดการได้ดีกว่าการทุบ เช่น ตัดเฉพาะส่วนงานปูนปั้นออกไปเก็บรักษาไว้ เพื่อจัดแสดงหรือนำมาประกอบกับแท่นฐาน แล้วจัดแสดงในลักษณะประติมากรรมกลางแจ้ง ประดับสถานที่และให้ความรู้ทางธรรมแก่ผู้มาชมในอนาคตก็ได้ ทั้งยังเป็นการรักษางานของศิลปินแห่งชาติด้วย

ด้าน พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จ.เพชรบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า “ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญ คือ “การปรับตัว”คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆวันของคุณจะกลายเป็น“โอกาส โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลายโอกาส เป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเราถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้ จะกลายเป็นอากาศและยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง”