จากข่าวช็อกวงการที่ดารานักแสดงหนุ่มชื่อดังลาจากโลกด้วยอาการป่วยโรคมะเร็ง อาจทำให้หลายๆคนยิ่งกังวลในเรื่องสุขภาพ แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไปเกินเหตุ เพราะยังมีวิธีการดูแลร่างกายให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคมะเร็ง ว่า สาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การป้องกันโรคมะเร็งเริ่มต้นได้ที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการรับประทานอาหารสะอาด ถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจสุขภาพหรือตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี

7 วิธีหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้

1) เลี่ยงการสูบบุหรี่ งดดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก

2) เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

3) เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ซึ่งการกินอาหารปิ้งย่างบ่อยๆ หรือ กินเป็นประจำต่อเนื่อง อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ

4) เลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนเตรท) หรือ สารกันเสีย เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม เป็นต้น หากซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือรับประทานเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้ได้

5) เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาน้ำจืด เพราะอาจปนเปื้อนพยาธิใบไม้หรือสารพิษจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เสี่ยงต่อเกิดมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี

6) เลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี เช่น บริเวณที่มีการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะเผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูง หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณดังกล่าวควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน

7) เลี่ยงการได้รับแสงแดดจัดหรือแสงแดดโดยตรง โดยไม่ได้รับการป้องกันนานเกินไป เนื่องจากความร้อนสูงและรังสียูวี ที่เป็นอันตรายต่อเซลล์อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ควรป้องกันโดยเลี่ยงการตากแดดในเวลาแดดจัดนานเกินไป หรือทาครีมกันแดด สวมใส่เสื้อผ้าและใช้อุปกรณ์กันแดดที่เหมาะสม

ที่สำคัญ ประชาชนสามารถเฝ้าระวังตัวเองเบื้องต้น ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปหรือผู้ที่มีความเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่

1) มะเร็งเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองโดยคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และการทำแมมโมแกรม

2) มะเร็งปอด แนะนำในคนอายุมากกว่า 55 ปี ที่สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี หยุดสูบบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี คัดกรองโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรังสีปริมาณต่ำ

3) มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำในคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 45-50 ปี คัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจเลือดคัดกรองมะเร็ง

4) มะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป คัดกรองโดยการตรวจเลือด ดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

5) มะเร็งตับ คัดกรองในผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือคนที่มีเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ควรตรวจคัดกรองโดยการอัลตราซาวด์ท้องช่วงบน และการตรวจค่ามะเร็งตับ

6) มะเร็งช่องปาก ควรตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูแลเหงือก ฟัน และความผิดปกติในช่องปาก หรือสังเกตรอยโรคด้วยตนเอง เป็นต้น

การคัดกรองมะเร็งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ รวมทั้งการดูแลตนเอง ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้