เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเขตพื้นที่ด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้และระบบ Computer Based Test จุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สพม.นครพนม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นายพิศุทธิ์ กิติศรีวรพันธุ์ ผอ.สพม.นครพนม กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินการฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สพม.นครพนม คณะผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ทั้ง 51 โรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครูแกนนำ PISA Coach เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากรายงานการสรุปผลการขับเคลื่อนที่ ผอ.สพม.นครพนม ทำให้มองเห็นการดำเนินการของเขตพื้นที่การศึกษา ที่สามารถทำได้เกิน 100% ในการขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่การนำชุดฝึกพัฒนาไปใช้ในห้องเรียนอย่างน้อย 6-8 เรื่อง เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาได้เหลากระบวนการทางความคิด เกิดประโยชน์กับนักเรียนทั้ง 51 โรงเรียน และการจัดทำแผนต่าง ๆ ที่จะลงสู่ผู้เรียนและเป็นองค์ประกอบในการให้คะแนนผู้เรียนที่มีร่องรอยการประเมินผล เป็นต้นแบบการคิด วิเคราะห์ การอ่านอย่างมีความหมายเชื่อมโยง มี Content จับประเด็น ถ่ายทอดออกมาอย่างมีเหตุผล ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบการคิดวิเคราะห์ของเด็กสามารถประมวลผลได้อย่างดี บ่งบอกถึงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน อีกส่วนคือแผนการดำเนินการขับเคลื่อนของเขตพื้นที่การศึกษามีความชัดเจนมาก มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีการจำแนกครู นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย โรงเรียนแกนนำ โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง สามารถเติมเต็มได้ ทั้งในส่วนของกิจกรรม ทั้งโรงเรียนแกนนำ โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง ที่จะพัฒนาไปด้วยกัน และการสนับสนุนการเข้าระบบทำข้อสอบของนักเรียน โดยการนำเกม PISA GAMIFICATION มาขยายผล จัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความกระตือรือร้นเพื่อให้เติมเต็มได้ทุกโอกาส เด็กมีโอกาสเท่าเทียมในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนมีคุณภาพ ครูมีคุณภาพ นักเรียนมีคุณภาพ ผู้บริหารมีคุณภาพ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนต้องหันมาชื่นชม

สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การพัฒนาความคิดของเด็กในการคิดคำตอบ จากเดิมครูผู้สอนและเด็กจะคุ้นชินกับข้อคำถามลักษณะ Achievement การปรับแนวทางข้อคำถามเป็นแนวทางตามข้อสอบ PISA เพื่อให้เด็กเรียนรู้ระหว่างทาง มีเหตุผลที่จะตอบคำถาม ถือเป็นการขยายจากความรู้ความจำ ความเข้าใจไปสู่การคิดในขั้นสร้างสรรค์ ซึ่งครูสามารถเติมเนื้อหาได้และเด็กจะจัดการได้ตลอดเวลา ในส่วนของข้อสอบ อยากให้เกิดการสร้างข้อสอบในทุก ๆ โอกาส โดยครูแกนนำสามารถสร้างเองได้ในลักษณะเพิ่มเติมกระบวนการคิดให้มากขึ้น สิ่งที่เติมเต็มได้ เป็นลักษณะเล่าสถานการณ์ที่ทำให้เด็กได้รู้สึกถึงการเชื่อมโยงในชีวิตประจำวัน การนำความรู้ที่อยู่ในห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นองค์ความรู้ที่จะใช้ดำเนินการ ถือเป็นภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตให้กับเด็กในการมีเหตุมีผล ตรรกะทางความคิดในแต่ละสถานการณ์ และครูสามารถเติมเต็มคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้จากการสร้างข้อสอบดังกล่าวให้กับเด็กได้อีกด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่น่าชื่นชมคือการตามติดการต่อยอดของนักเรียน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงที่ไม่ได้เป็นเพียงการสอบ แต่เด็กที่ได้รับคะแนนเต็มต้องได้รับการชื่นชม สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจ สิ่งสำคัญคือความเข้มแข็งของโรงเรียน ของครู ผอ.รร. ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารของเขตพื้นที่ และทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน สิ่งเหล่านี้คือความภาคภูมิใจที่ทำให้เราเห็นเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

“สุดท้ายนี้ ขอฝากในส่วนของเด็กกลุ่มเป้าหมายทั้ง 51 โรงเรียนในสังกัด ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการพัฒนาตามแผนที่เขตวางแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป และฝากทุกโรงเรียนในการขับเคลื่อนการประเมิน PISA เป็นสิ่งที่ตรงกับหน้าที่ของเราทุก ๆ คน เพราะสิ่งสำคัญที่สังคมมองเราอยู่ คือ คุณภาพของผู้เรียน ที่บ่มเพาะสร้างคนที่สามารถคิด วิเคราะห์ การเรียงร้อยเรื่องราวต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะร่วมกันดำเนินการได้ การคิดอย่างมีระบบ การมีเหตุมีผล การตัดสินใจอย่างมีตรรกะ สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเด็กจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติได้ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการยกระดับการศึกษาในทุกพื้นที่ สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศในอนาคตต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ สพม.นครพนม ได้ขับเคลื่อนตามแนวทาง ติดตาม เติมเต็ม ต่อยอด มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งสิ้น 51 โรงเรียน มีนักเรียน จำนวน 30,999 คน มีผลการดำเนินการที่โดดเด่นในปัจจุบัน สถานศึกษาในสังกัดได้นำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในสถานศึกษา ครบ 100% นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาผ่านชุดพัฒนา ครบ 100% ดำเนินการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ ด้วยกิจกรรม การแข่งขัน Road to PISA 2025 สพม.นครพนม ครั้งที่ 1 รูปแบบ Paper Based Assessment ส่งเสริม ฝึกฝนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายในการใช้งานแป้นพิมพ์ ครบทุกโรงเรียน พร้อมด้วยข้อมูลการเข้าใช้งาน PISA STYLE Online Testing สถิติเวลาเข้าใช้งาน พร้อมด้วยสถิติการส่งข้อสอบของโรงเรียนในสังกัด เป็นต้น