จากกรณีที่นายสุรินทร์ ลิสอน อายุ 40 ปี อดีตเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานร้องทุกข์กับว่าที่ ร.ต.รภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม จ.นนทบุรี ภายหลังตนเองสอบผ่านการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งผู้คุม ณ เรือนจำกลางนครปฐม แต่กลับถูกปฏิเสธเข้ารับราชการ โดยทางเรือนจำกลางนครปฐม ชี้แจงว่าตนเองวุฒิการศึกษาไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทั้งๆ ที่คุณสมบัติการศึกษาตรงตามประกาศรับสมัคร ซ้ำยังไม่ได้รับการเยียวยาเพราะต้องลาออกจากที่ทำงานเก่าเพื่อมารายงานตัว และต้องเลี้ยงดูลูกน้อยอีก 2 คน โดยทางมูลนิธิฯ ยืนยันว่าจะเดินหน้าพานายสุรินทร์ เข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงยุติธรรม ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. กรมราชทัณฑ์ โดยส่วนประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน ระบุใจความว่า ตามที่มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้แถลงข่าวกรณีนายสุรินทร์ (ขอสงวนนามสกุล) ได้เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิฯ กรณีที่สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดแล้ว แต่ภายหลังกลับมีเจ้าหน้าที่แจ้งมาว่าคุณสมบัติวุฒิการศึกษาไม่ตรงตามหลักเกณฑ์นั้น กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า จากประกาศฯ ลงวันที่ 10 พ.ย. 66 รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน (งานควบคุมผู้ต้องขังชายและอื่นๆ) ได้กำหนดวุฒิการศึกษาของผู้สมัครสอบแข่งขันฯ ต้องเป็นผู้ได้รับ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรืออนุปริญญาหลักสูตร 2 ปี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาหลักสูตร 3 ปี ในทุกสาขาวิชาเท่านั้น”

โดยมิได้เปิดรับสมัครคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน พร้อมกันนี้ ยังได้ระบุเงื่อนไขการสมัครสอบแข่งขันฯ ว่า ผู้สมัครสอบจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกาศรับสมัครฯ และจะต้องกรอกรายละเอียดต่างๆ ในใบสมัครให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง นอกจากนี้ในกรณีที่มีการผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบแข่งขัน หรือตรวจพบว่าเอกสารหลักฐานต่างๆ หรือคุณวุฒิ ซึ่งผู้สมัครสอบนำมายื่นไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัครสอบ กรมราชทัณฑ์ จะถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบแข่งขันครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น

กรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า รวมทั้งหากปรากฏภายหลังว่าผู้สมัครสอบรายใดมีคุณสมบัติทั่วไปหรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งไม่ตรงตามประกาศรับสมัครสอบ ก็จะไม่มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่สอบแข่งขันดังกล่าว กรณีของนายสุรินทร์ กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือแจ้งให้มารายงานตัวในวันที่ 6 พ.ค. 67 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับราชการ ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าผู้สมัครสอบรายดังกล่าวได้ตรวจสอบคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาของตนเองถูกต้องแล้ว ประกอบกับกรมราชทัณฑ์มีความต้องการบุคลากรเพื่อเสริมอัตรากำลังให้กับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก แต่กรมฯ ก็ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อความถูกต้องก่อนออกคำสั่งแต่งตั้งฯ

ซ้ำรอยครูเบญ! หนุ่มร้องสอบติดผู้คุมเรือนจำ แต่กลับถูกปฏิเสธเข้ารับราชการ

และจากการตรวจสอบพบว่า นายสุรินทร์ ใช้คุณวุฒิ “ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง)” ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัครฯ เจ้าหน้าที่จึงได้โทรศัพท์ประสานในวันที่ 16 พ.ค. 67 เพื่อขอเอกสารคุณวุฒิเพิ่มเติม อันเป็นการพิทักษ์สิทธิให้กับนายสุรินทร์อย่างเต็มที่แล้ว และกรมฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 พ.ค. 67 แจ้งให้นายสุรินทร์ทราบถึงสาเหตุที่ไม่สามารถบรรจุได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ โดยมิได้เพิกเฉยหรือเงียบหายไม่ติดต่อกลับดังที่กล่าวอ้าง จากนั้นกรมฯ จึงได้มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 ซึ่งไม่มีชื่อนายสุรินทร์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามประกาศรับสมัครสอบดังกล่าว อย่างไรก็ดี นายสุรินทร์ ยังคงมีสิทธิในการยื่นเอกสารเพื่อขออุทธรณ์การพิจารณาบรรจุแต่งตั้งในครั้งนี้ได้

กรมราชทัณฑ์ เผยต่อว่า ต่อมานายสุรินทร์ ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือจากสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการอุทธรณ์ตามสิทธิที่พึงได้ในวันที่ 30 พ.ค. 67 ที่ระบุว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง สาขาวิชาพลศึกษา หลักสูตร 2 ปี เป็นระดับอนุปริญญา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. แล้วพบว่า ขัดกับการรับรองคุณวุฒิของสำนักงาน ก.พ. ที่มิได้ระบุว่าประกาศนียบัตรดังกล่าว คือ อนุปริญญา ที่สำคัญกรมราชทัณฑ์ มิได้เปิดรับสมัครคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน จึงถือได้ว่าผู้สมัครสอบแข่งขันฯ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่มีสิทธิเข้ารับการสอบแข่งขันฯ การใดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สำหรับผู้ขาดคุณสมบัติให้ถือเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ การที่ผู้สอบแข่งขันได้ลาออกจากหน่วยงาน หรือ สถานที่ทำงานเดิมเมื่อใดนั้น สามารถกระทำได้ตามสิทธิของผู้สอบแข่งขันได้ โดยการที่กรมราชทัณฑ์ได้มีการประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ หรือมีหนังสือแจ้งระยะเวลาการดำเนินการ เป็นเพียงการแจ้งห้วงระยะเวลาให้ทราบขั้นตอนและเตรียมความพร้อมสำหรับการบรรจุแต่งตั้ง โดยกรมราชทัณฑ์จะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แม้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วก็ตาม ก็จะมีกระบวนการตรวจสอบวุฒิการศึกษาและอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่าผู้สอบแข่งขันได้รายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ กรมราชทัณฑ์จักต้องดำเนินการให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนด ทุกประการด้วยความถูกต้อง จึงชี้แจงมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง.