ตัวอักษร เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดภาษาถ้อยคำ บันทึกเรื่องราว เตือนความทรงจำ เป็นประตูที่เปิดสู่ความรู้หลากหลายมิติ พาสำรวจสถานการณ์เอกสารตัวเขียนผ่านงานวิจัย การฟื้นอักษรโบราณมีชีวิตต่อยอดเป็นทุนวัฒนธรรม ในบริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างผลิตภัณฑ์ร่วมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยสำรวจและสำเนาข้อมูลเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาค ในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย ประธานศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า เอกสารตัวเขียนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นบันทึกความรู้สรรพวิทยาการของมนุษย์ ทั้งความรู้ ความคิดและชีวิตความเป็นอยู่โดยถ่ายทอดลงบนวัสดุบันทึกที่หลากหลายตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น

“ประเทศไทยมีหลักฐานบันทึกเป็นเอกสารตัวเขียนอยู่จำนวนมาก แต่การขาดการดูแล การเผาทำลาย ความไม่เข้าใจ ฯลฯ เป็นภัยคุกคาม ส่งผลต่อเอกสารตัวเขียนโบราณจึงเกิดโครงการวิจัยฯโดยร่วมกับเครือข่ายสถาบันระดับอุดมศึกษาสี่ภูมิภาคและเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมและวัดต่าง ๆ และจากองค์ความรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับอักษรตัวเขียนของไทยซึ่งมีศักยภาพสามารถต่อยอดเป็นทุนทางวัฒนธรรมในบริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่ผ่านมาในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 จัดแสดงผลงานวิจัย อักษรศิลป์สร้างสรรค์ อักษรโบราณมีชีวิต (CreativeThai Manuscripts)นำเอกสารตัวเขียนต่อยอดสร้างสรรค์สู่การเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมดูแลรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเอกสารตัวเขียนให้ยั่งยืน นำเสนอไอเดีย คุกกี้เขียนอักษรโบราณ บอร์ดเกมเอกสารตัวเขียน ฯลฯ นำอักษรโบราณกลับมาสร้างสรรค์หลายมิติ

อักษรโบราณเป็นประตูที่เปิดไปสู่ความรู้อีกมากมาย ทั้งนี้จากโครงการสำรวจและสำเนาข้อมูลเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาคในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย จากการเก็บข้อมูลวิจัยทำให้เห็นถึงสถานการณ์อักษรตัวเขียน ทั้งความไม่นิยม การขาดการดูแล ฯลฯ ทำให้ค่อย ๆ เริ่มหายไปจึงทำให้เกิดการสำรวจจัดทำเป็นฐานข้อมูล ขณะเดียวกันมีกลุ่มทำงานและเผยแพร่อักษรโบราณ แต่เมื่อเทียบกับปริมาณกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สมดุลและเพียงพอ คนที่ทำงานอนุรักษ์ที่อ่านอักษรโบราณได้ มีอยู่จำนวนน้อย โครงการวิจัยฯ ในระยะแรกจึงเป็นเหมือนหน่วยกู้ชีพและในความต่อเนื่องของงานวิจัย เมื่อฟื้นชีพแล้วก็ต้องให้อักษรโบราณโลดแล่นอยู่ได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน”

               หัวหน้าโครงการวิจัยฯ รศ.ดร.อภิลักษณ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า งานวิจัยระยะแรกเป็นการดำเนินการอยู่ในแวดวงนักวิชาการ แต่การดำเนินการต่อมา เรามีความพยายามขยายให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นให้อักษรโบราณเป็นแรงบันดาลใจ โดยนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ต่อไปในหลายมิติ จากที่กล่าวนำเสนอไอเดียคุกกี้เขียนอักษรโบราณ บอร์ดเกมเอกสารตัวเขียน หรือแม้แต่ผ้าห่อคัมภีร์ ฯลฯ และจะมีต่อเนื่องโดยติดตามเผยแพร่ทางศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คัมภีร์ แจ่มนิยม และ รศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

อักษรโบราณมีอยู่ในทุกภูมิภาค อย่างเช่น ภาคเหนือ มีอักษรธรรมล้านนาใช้อักษรบันทึกเรื่องราว ภาคกลาง มีอักษรรัตนโกสินทร์ที่ใช้กันอยู่ โดยถ้าเก่ากว่านั้นจะเป็นอักษรไทยย่อ อักษรไทยสมัยอยุธยา ฯลฯ ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็มีตัวอักษร เช่น กลุ่มมอญ กลุ่มลาวโซ่ง ฯลฯ มีตัวอักษรของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวอักษรมีอยู่มากมาย ในความน่าสนใจที่น่าติดตามในเรื่องราวของตัวอักษรโบราณ นอกจากรูปลักษณ์ อย่างเช่น อักษรโบราณทางเหนือและอีสานจะมีลักษณะมน ๆ กลม ๆ ขณะที่ภาคกลางและภาคใต้จะมีความเหลี่ยม ฯลฯ โดยเบื้องต้นก็มีเสน่ห์ มีความงามเป็นเอกลักษณ์ ส่วนถ้านำมาเขียนเป็นภาษิต คำสอนก็มีความน่าสนใจ หรือถ้านำผูกสร้างสรรค์อักษรวิจิตรก็จะยิ่งน่าติดตาม อีกทั้งเมื่อนำมาเขียนของแต่ละบุคคลก็จะมีสไตล์ที่น่าติดตามกันไปคนละแบบ

นอกจากนี้ บริบทแวดล้อมของตัวเขียน มีความสำคัญ ให้ความรู้ไว้มากมาย ทำให้เห็นแง่มุมวัฒนธรรม หรือแม้แต่ กลอักษรต่าง ๆ ที่ซ่อนวิธีการอ่านให้ไขคำตอบ หรือแม้แต่เรื่องราวของ กระดาษ การทำวัสดุบันทึก ไม่ว่าจะเป็นนํ้าหมึก ปากกา ฯลฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับอักษรทั้งสิ้น ทั้งนี้มีองค์ความรู้อีกมากมายที่รอการค้นพบที่ศึกษาได้จากอักษรโบราณ หลายอย่างที่เรายังไม่เข้าใจ การใช้เอกสารหลายเล่มเป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ เอกสารทำให้เห็นภาพรวมหรือเห็นภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น

ทางด้าน คัมภีร์ แจ่มนิยม นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้สร้างบอร์ดเกมเอกสารตัวเขียน เล่าเพิ่มอีกว่า บอร์ดเกมชิ้นนี้เป็นผลงานในสาขาวิชาบูรณาการภาษาและวรรณกรรมไทยเพื่อการพัฒนา โดยทีมเราห้าคนร่วมกันสร้างบอร์ดเกมเอกสารตัวเขียน “อารักษ์เจ้าจักรวาล” โดยนำความรู้การทำเอกสารไทย หนังสือไทย มาทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อพูดถึง หนังสือไทย สมุดใบลาน สมุดข่อย ฯลฯ จะให้ความรู้สึกเก่าแก่ เข้าใจยาก ทำให้หลายคนไม่อยากไปค้นหาความรู้เพิ่มหรือสนใจสิ่งนี้

“บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงเรื่องราวเหล่านี้ง่ายขึ้น โดยเราดีไซน์นำความรู้มาย่อย นำวิธีการทำ วัตถุดิบอุปกรณ์ต่าง ๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้ได้เล่นและเรียนรู้ร่วมกัน โดยการเล่นจะเป็นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างเอกสารตัวเขียนจริงมาใช้ เช่น เครื่องมือที่ใช้ วัตถุดิบต่าง ๆ อาทิ เปลือกไม้ อุปกรณ์ เช่น พะแนง หรือนํ้าปูนขาวที่ใช้แช่เปลือกไม้ นำมาบูรณาการให้อยู่ในบอร์ดเกม และจะมีเหตุการณ์บางอย่างในการทำเอกสารตัวเขียนที่เกิดขึ้นจริงนำมาอยู่ในบอร์ดเกม”

ในบอร์ดเกมจะมีการ์ดต่าง ๆ เป็นหมวด เช่น หมวดวัตถุดิบ หมวดให้คุณ หมวดให้โทษ เล่นแข่งขันระหว่างผู้เล่นหลายคน ตั้งแต่ 2-6 คนขึ้นไป ใช้เวลาในแต่ละเกมประมาณ 20-40 นาทีต่อรอบ โดยจุดหมายเป็น การเล่นเพื่อหาว่าใครจะเป็นผู้สร้างเอกสารตัวเขียนหนังสือไทยได้สำเร็จเป็นคนแรก

ผู้เล่นจะต้องเก็บรวบรวมบัตรวัตถุดิบ จากที่กล่าวในเกมก็จะมีบัตรต่าง ๆ ในหมวด ขณะเล่นต้องนำความรู้การทำสมุดตัวเขียนมาใช้ อย่างเช่น พะแนง แบบพิมพ์ที่ใช้ทำแผ่นกระดาษเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หล่อเปลือกไม้ที่ยุ่ยแล้วออกมาให้เป็นแผ่นกระดาษ หรือ นํ้าปูนขาว นำมาใช้ในการแช่เปลือกไม้ หรือแม้แต่ หินแม่นํ้าโขง นำมารีดเยื่อเปลือกไม้ให้เรียบเนียน หรือ หมึกดำ หมึกที่ใช้ในการบันทึกอักษรลงบนเอกสารโบราณ เป็นต้น โดยแผ่นการ์ดวัตถุดิบจะมีคำอธิบายบอกไว้สั้น ๆ ว่าคืออะไร ให้ความรู้โดยผู้เล่นได้เรียนรู้ผ่านการ์ดในทุก ๆ ใบในระหว่างการเล่น

นอกจากการ์ดวัตถุดิบ ในเกมยังมีการ์ด หมวดการ์ดให้คุณ และ การ์ดให้โทษ อย่าง การ์ดให้คุณจะช่วยให้เราเล่นได้สะดวกขึ้นและก่อนเล่น ต้องสุ่ม แต่ละสูตรของสมุดไทยจะมีสูตรที่จำเป็นที่ต้องเก็บวัตถุดิบรวบรวมให้ครบตามกำหนดซึ่งในนั้นจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับสมุดไทย เป็นต้น โดยบอร์ดเกมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารให้ความรู้ สร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักถึงเอกสารตัวเขียน ช่วยให้เข้าใจในเรื่องพื้นฐาน เข้าใจความรู้เบื้องต้น นำไปต่อยอดค้นหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปได้ในอนาคต และจากบอร์ดเกมที่ดีไซน์ออกมาให้เล่นทดลองเป็นต้นแบบ ปัจจุบันพัฒนาต่อยอดเป็นบอร์ดเกมจริงและเตรียมจดอนุสิทธิบัตร เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่าการต่อยอดสร้างสรรค์อักษรโบราณมีชีวิต รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเอกสารตัวเขียนยั่งยืน.

                                                                                                พงษ์พรรณ บุญเลิศ