หลังจากที่ผู้ใช้อินสตาแกรมในชื่อของ “unnaturalist.ai” โพสต์ภาพแอปเปิลสีม่วง, ซอสแอปเปิลม่วงและต้นแอปเปิลที่ให้ผลสีม่วง เมื่อไม่กี่วันก่อน ภาพชุดดังกล่าวก็กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

เนื่องจากภาพชุดนี้มีคำบรรยายที่ดูสมจริงซึ่งมีการระบุชื่อสถานที่ปลูกแอปเปิลม่วงในภาพว่ามาจากสวนในจังหวัดซัสแคตชวาน ประเทศแคนาดา ทำให้มีคนจำนวนมากติดต่อไปยังร้านค้าผลไม้และสวนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสั่งซื้อทั้งแอปเปิลม่วง

ปัญหาเพียงอย่างเดียวในกรณีนี้ก็คือ ภาพชุดที่กลายเป็นไวรัลไปแล้วนั้น ไม่ใช่ภาพแอปเปิลจริง ๆ เป็นเพียงภาพที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรม “เอไอ” 

“มันดูน่าอัศจรรย์ใจ มันคงเป็นเรื่องที่น่าสนุก แต่โชคไม่ดีที่มันไม่ใช่ของจริง” ราเชลล์ ฮอฟไมส์เตอร์ นักออกแบบพืชสวนของบริษัทดัตช์โกรเวอร์สจากเมืองเรจินา จังหวัดซัสแคตชวาน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซีทีวีนิวส์

ส่วนบัญชีผู้ใช้งานอินสตาแกรมที่เป็นผู้โพสต์ภาพชุดดังกล่าวนั้น ระบุที่ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเจ้าของบัญชีว่าอยู่ในฟาร์มน็อตต์ส แบร์รี ซึ่งเป็นสวนสนุกแบบธีมพาร์คในรัฐแคลิฟอร์เนีย

คำบรรยายของภาพชุดแอปเปิลม่วงนี้ระบุว่า มี “ต้นกำเนิด” มาจากจังหวัดซัสแคตชวาน และบอกว่าแอปเปิลพันธุ์นี้เติบโตได้ดีในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ส่วนผลของมันมีรสชาติคล้าย “อบเชยและกล้วย” 

โพสต์ดังกล่าวยังอ้างว่า แอปเปิลม่วงเป็นส่วนผสมที่สำคัญของ “ซอสแอปเปิลม่วง” ซึ่งเป็นซอสรสชาติดีและเป็นที่ชื่นชอบของชาวพื้นเมืองในจังหวัดซัสแคตชวาน

ด้านฮอฟไมส์เตอร์ยืนยันชัดจนว่า แม้ในเขตจังหวัดซัสแคตชวานจะมีการปลูกและพัฒนาแอปเปิลหลายสายพันธุ์ แต่ไม่มีพันธุ์ไหนที่ให้ผลสีม่วง ทุกสายพันธุ์ล้วนเป็นแอปเปิลเปลือกสีแดงที่มีเนื้อในสีขาว

แม้จะเห็นได้ชัดว่านี่คือภาพแอปเปิลปลอม แต่ภาพดังกล่าวก็มีผู้นำไปโพสต์ต่อ ๆ กันบนแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างเอ็กซ์และเฟซบุ๊ก ทำให้มีคนที่ไม่รู้ที่มาของภาพและแยกแยะข้อมูลไม่ได้เข้าใจผิดว่านี่คือแอปเปิลจริง เกิดความอยากลิ้มลองรสชาติของแอปเปิลม่วงและถามหาแหล่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก

สำนักข่าวซีทีวีรายงานว่า บางคนถึงกับลงทุนเดินทางไปที่จังหวัดซัสแคตชวานและถามหาแอปเปิลม่วงจากร้านค้าผลไม้หลายแห่ง

ฮอฟไมส์เตอร์กล่าวว่า ความจริงแล้ว ศูนย์พืชสวนของเมืองเรจินาจะได้รับคำสั่งซื้อแปลก ๆ แบบนี้ทุกครั้งที่มีภาพผลไม้ ต้นไม้ ที่สร้างขึ้นด้วย “เอไอ” กลายเป็นไวรัล และมีคนเชื่อว่านั่นเป็นภาพจากของจริง

แม้ว่าไวรัลภาพผลไม้เอไอเหล่านี้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพียงใดด้วยความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ และแม้ว่าการส่งต่อข่าวสารเท็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อเท็จจริงในโลกแห่งความจริงด้วย 

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : Instagram / @unnaturalist.ai