โดย ‘รองเพชร บุญช่วยดี’ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เผยวิสัยทัศน์ในเวทีสัมมนา ‘พลังงานสะอาด’ ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่ จัดโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ว่า กระแสการใช้พลังงานสะอาดทั่วโลกกำลังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นในระดับนานาชาติ ผ่านการประชุม ‘COP’ หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเฉพาะ ‘COP26’ ในปี 2021 ที่ตกลงกันว่าแต่ละประเทศควรตั้งเป้าหมาย ‘Net Zero’ ภายในปี 2050 ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม พลังงาน และการขนส่ง ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และหันมาใช้ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) มากขึ้น รวมถึงการนำ เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) มาใช้

ในส่วนของการประชุม ‘COP28’ ที่ระบุเป้าหมายการใช้พลังงาน RE ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ใกล้เคียงศูนย์แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero โดยมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ต้องพิจารณา ได้แก่การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด ธุรกิจต้องลงทุนในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน, การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยมลพิษ แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพที่ดี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะได้รับสิทธิพิเศษทางการเงิน ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี และการให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

“จากประสบการณ์ในการประชุม COP ของผม ทุก ๆ 5 ปี จะมีข้อตกลงที่สำคัญ ซึ่งสิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือเรื่องของความมุ่งมั่นที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น ฉะนั้นการที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะลดให้ได้ในปี 2050 หรือ 2060 และอีก 3 ปี ที่จะประชุมอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่จะขยับใกล้เข้ามาอีก พูดง่าย ๆ ก็คือ การต้องไปถึงเป้าหมาย Net Zero อาจขยับเข้ามาใกล้ขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้น” รองเพชร กล่าวต่อ

นอกจากการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การใช้เครื่องมือทางการเงิน อย่าง ‘ภาษีคาร์บอน’ ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้นำภาษีคาร์บอนมาใช้เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบการเก็บภาษีคาร์บอนของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป ประเทศไทยเองก็มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตให้สอด คล้องกับแนวทางการใช้ภาษีคาร์บอนมากขึ้น โดยนำเงินส่วนหนึ่งจากภาษีสรรพสามิตมาใช้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบภาษีคาร์บอนเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกัน ‘กองทุนการเงินระหว่างประเทศ’ (IMF) ได้ออกมาแนะนำให้อัตราภาษีคาร์บอนทั่วโลกอยู่ที่อย่างน้อย 85 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero อย่างมีประสิทธิ ภาพ ซึ่งสูงกว่าอัตราที่เคยแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ที่ 75 ดอลลาร์ต่อตัน โดยการปรับเพิ่มอัตราภาษีคาร์บอนในระดับนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภค รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาพลังงานควบคู่ไปด้วย

“เราต้องลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในเรื่องราคาพลังงานให้ได้” รองเพชร กล่าวย้ำ.