นับว่าเป็นเรื่องทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเห็นตรงกัน โดยเฉพาะประเด็นกรอบจริยธรรมนักการเมืองและกรณีการยุบพรรค ที่ให้อำนาจองค์กรอิสระตีความกว้างครอบจักรวาลและชี้เป็นชี้ตายพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจนเกินเหตุ

โดยทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างเป็นผู้ประสบภัยทางการเมืองมาหมาดๆ  ทั้งกรณีสอย ‘นายกฯ นิด’เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการตีเหล็กตอนที่ยังร้อน ก่อน “นายกฯอิ๊งค์” จะติดกับดักการเมืองซ้ำรอยอดีตนายกฯ คนก่อนๆ  หรือกรณีการยุบอดีตพรรคก้าวไกลเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และอีกหลายคดีที่รออยู่ข้างหน้า

สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่ได้ชงเข้าสภาแล้ว มี 6  ข้อ เช่น มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง แก้จำนวนเสียงโหวตของศาลรัฐธรรมนูญ จากเสียงข้างมากให้เป็น 2 ใน 3 พร้อมเปิดช่องรื้อองค์กรอิสระไม่ต้องทำประชามติ เช่นเดียวกันกับพรรคประชาชนที่ยื่นร่างแก้ไขปมมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ เป็นต้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมนัดถกพรรคร่วมรัฐบาลและ สว.ภายในสัปดาห์นี้

ผ่านมาท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่และ สว.สายประชาชนนั้นเห็นด้วยในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายแค้นและอดีต สว.ลากตั้งอย่าง “สมชาย แสวงการ” อดีต 250 สว.ชุด คสช. ออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ คุณสมบัติรัฐมนตรี ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะนักโกงเมืองมีคดีทุจริตและประพฤติจริยธรรมร้ายแรงไง รู้ทันการเมืองไทย แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร

นอกจากปมร้อนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองแล้ว วันที่ 26 ก.ย.นี้ สภาฯ ยังมีวาระการพิจารณารายงานการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีประเด็นใหญ่คือความเห็นต่างเรื่องมาตรา 112 ว่าจะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะกมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และบันทึกไว้ 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข

พร้อมข้อสังเกตของรายงานที่ระบุว่าให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอ กมธ. คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 โดยให้ ครม. ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง และยังมีข้อสังเกตว่า กรณีมาตรา 112 เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล อาจส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย  ต้องจับตาว่าสภาฯ จะไฟเขียวรายงานผลการศึกษานี้และส่งต่อไปยังรัฐบาลหรือไม่

สุดท้ายจากนี้ต้องเกาะติดว่าปมการแก้รัฐธรรมนูญและเผือกร้อนนิรโทษกรรม โดยเฉพาะมาตรา 112  จะถูกฝ่ายแค้นและขั้วอนุรักษ์นิยมนำมาจุดชนวน จนทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” สะดุดหยุดลงก่อนเวลาอันควรหรือไม่.